ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๓๖๔
การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม
หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน
ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร้
เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง
ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากันไซร้ จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้
ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้
หมายเหตุ
วรรคหนึ่ง
เป็นกรณีที่เจ้าของรวมสามารถตกลงกันเองได้หรือมีการตกลงแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว(ฎีกาที่
๑๓๕๓/๒๕๕๔)
แต่ถ้าไม่สามารถตกลงกันเองได้หรือยังมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนต้องบังคับตามวรรคสอง(ฎีกาที่
๑๘๖๖/๒๕๕๙)
ฎีกาที่ ๑๘๖๖/๒๕๕๙
โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทได้ตกลงจับสลากแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทกันเป็นสัดส่วนแล้วแต่จำเลยที่
๑ ให้การปฏิเสธว่ายังมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน
โจทก์ทั้งสองย่อมมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง
ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๖๔
วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม
หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน” และวรรคสองบัญญัติว่า
“ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร้
เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง
ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากันไซร้ จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้
ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้”
ซึ่งบทบัญญัติมาตรา ๑๓๖๔
เป็นบทเฉพาะที่เกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวม
จึงไม่อาจนำบทบัญญัติทั่วไปที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินในกรณีอื่นซึ่งกำหนดให้ใช้เสียงข้างมากของเจ้าของรวมตามมาตรา
๑๓๕๘ มาใช้บังคับกับการแบ่งที่ดินพิพาทในคดีนี้ เมื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคนในที่ดินพิพาทยังมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วน
การแบ่งที่ดินพิพาทจึงต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๓๖๔
ฎีกาที่ ๒๖๕๑/๒๕๓๗
ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ครึ่งหนึ่งโจทก์ฟ้องขอให้แบ่งแยกได้
ที่จำเลยฎีกาว่า
ศาลมิได้พิพากษาให้ประมูลราคาที่ดินหรือขายทอดตลาดที่ดินพิพาทนำเงินมาแบ่งกันด้วยเป็นการไม่ชอบนั้น
เห็นว่า การจะแบ่งที่ดินพิพาทกันอย่างไรเป็นเรื่องชั้นบังคับคดีซึ่งสามารถดำเนินการแบ่งได้
โจทก์ไม่ต้องขอมาและศาลไม่จำเป็นต้องพิพากษากำหนดวิธีการแบ่งไว้
ฎีกาที่ ๓๑๘๙/๒๕๓๗
โจทก์ฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่เศษ จากจำนวนที่ดิน ๗ ไร่ ๑ งาน
จำเลยที่ ๒ให้การว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมเพียง ๑ งาน ๒๖ ตารางวา
เป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่โต้แย้งกันในจำนวนที่ดินส่วนที่ต่างกัน
ซึ่งคู่ความตีราคาทุนทรัพย์พิพาท ๙๐,๐๐๐ บาท
จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ฯลฯ
แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าหากจำเลยทั้งสองไม่ยอมไปทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองแทนและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้นเป็นการไม่ถูกต้องเพราะไม่เป็นไปตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
๑๓๖๔ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
โดยการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมนั้นให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๓๖๔
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า วิธีการแบ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
๑๓๖๔ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๘๐๐ บาท แทนโจทก์
0 ความคิดเห็น