ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา 131 คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลนั้น ให้ศาลปฏิบัติดังนี้

               (1) ในเรื่องคำขอซึ่งคู่ความยื่นในระหว่างการพิจารณาคดีนั้น โดยทำเป็นคำร้องหรือขอด้วยวาจาก็ดี ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตหรือยกเสียซึ่งคำขอเช่นว่านั้น โดยทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ แต่ถ้าศาลมีคำสั่งด้วยวาจาให้ศาลจดคำสั่งนั้นไว้ในรายงานพิสดาร

               (2) ในเรื่องประเด็นแห่งคดี ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะนี้

 

คำอธิบาย

               1. คดี คำว่า “คดี” มีความหมายตามคำนิยามตามมาตรา 1 (2)

               2.รายงานพิสดาร คือรายงานที่มีรายละเอียด

               3. คำขอด้วยวาจา เช่น คู่ความขอเลื่อนคดีด้วยวาจาขณะที่ศาลออกนั่งพิจารณาตามมาตรา 40

               4.วิธีการสั่งคำร้องหรือคำขอด้วยวาจา มี 2 แบบ คือ วิธีที่ 1.สั่งเป็นหนังสือด้วยการเกษียณสั่งที่ตัวคำร้องของผู้ร้อง  วิธีที่ 2. สั่งโดยจดคำสั่งไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา โดยจดให้มีรายละเอียดเป็นหลักฐานว่า ผู้ขอขออะไร และศาลสั่งว่าอย่างไร(รายงานพิสดาร)

               5.คำสั่งอนุญาตหรือยกคำขอตามมาตรา 131 (1) เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

               6. คำว่า “คำสั่ง” ตามมาตรา 131 (2) คือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี

               7. คำว่า “ประเด็นแห่งคดี” คือข้อที่คู่ความยกขึ้นเพื่อให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาด มีผลให้แพ้ชนะคดีกัน ประเด็นแห่งคดีในศาลชั้นต้นเกิดขึ้นจากคำฟ้อง คำให้การ ฟ้องแย้ง คำให้การแก้ฟ้องแย้ง  

               8. ประเด็นข้อพิพาท คือประเด็นแห่งคดีที่คู่ความยังโต้เถียงกัน ประเด็นข้อพิพาทจึงเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นแห่งคดี

                9.ตามมาตรา 131 (2) ใช้กับคำฟ้องและคำร้องที่มีลักษณะเป็นการตั้งประเด็นแห่งคดีด้วย(ฎีกาที่ 1118/2560)

 

อ้างอิง

สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา. หนังสือรวมคำบรรยาย ภาคสอง สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562 เล่มที่ 1