ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้

               (4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6

 

คำอธิบาย

 

1.หลักเกณฑ์เป็นผู้เสียหาย

               1.1 ต้องมีการกระทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่งเกิดขึ้น

               1.2 ผู้เสียหายต้องเป็นบุคคล

               1.3 บุคคลนั้นต้องได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาฐานนั้น

               1.4 บุคคลนั้นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

2.ต้องมีการกระทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่งเกิดขึ้น

               สำหรับความผิดอาญาโดยทั่วไป ความผิดเกิดขึ้นเมื่อมีการลงมือกระทำ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ต้องรับผิดในขั้นตระเตรียมการ เช่น ป.อ.มาตรา 219 เป็นต้น

3.ผู้เสียหายต้องเป็นบุคคล

               3.1 บุคคลธรรมดา ต้องมีสภาพบุคคลอยู่ในขณะที่มีการกระทำความผิดขึ้น ซึ่งสภาพบุคคลเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย(ป.พ.พ.มาตรา 15)

               3.2 นิติบุคคล แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

                              3.2.1 นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ สมาคม มูลนิธิ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด

                              3.2.2 นิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม มีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534, วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯรวมทั้งวัดร้าง(ฎีกาที่ 6965-6966/2546), วัดบาทหลวงโรมันคาธอลิกเป็นนิติบุคคล(ฎีกาที่ 8033-8037/2538), กองทุนหมู่บ้าน(ฎีกาที่ 6600/2649)

4. บุคคลนั้นต้องได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาฐานนั้น

               หมายความว่า ความเสียหายนั้นเป็นผลโดยตรงจากการกระทำ ตามทฤษฎีเงื่อนไข

               บุคคลนั้นได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนั้นหรือไม่ ต้องแยกพิจารณาเป็นความผิดแต่ละฐานไป

5.บุคคลนั้นต้องเป็น “ผู้เสียหายโดยนิตินัย”

               หลักกฎหมายทั่วไปมีอยู่ว่า “ผู้ที่จะมาขอพึ่งบารมีแห่งความยุติธรรมต้องมาด้วยมืออันบริสุทธิ์”

               แนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

               1.บุคคลที่มีส่วนในการกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือมีส่วนประมาทด้วย(ฎีกาที่ 1472/2522, 5172/2554, 1960/2534) การมีส่วนร่วมหรือก่อให้ผู้อื่นกระทำผิด พิจารณาตามข้อหาที่จำเลยกระทำผิดเท่านั้น(ฎีกาที่ 5172/2554) เช่น หญิงยอมให้ผู้อื่นทำแท้ง ถือว่าหญิงนั้นมีส่วนในการกระทำความผิดด้วย(ฎีกาที่ 954/2502), ผู้ตายข้ามถนนใต้สะพานลอยในสภาวะที่รถใช้ความเร็วสูง ผู้ตายจึงมีส่วนประมาทด้วย ไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย(ฎีกาที่ 7640/2550)

               2.บุคคลที่สมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้ทำร้ายซึ่งกันและกัน(ฎีกาที่ 1183/2494)

               3.บุคคลที่สมัครใจยินยอมให้ผู้อื่นกระทำความผิด(ฎีกาที่ 968/2479) 

               4.ผู้ที่กระทำการโดยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน(ฎีกาที่ 7771/2493 (ประชุมใหญ่))

 

อ้างอิง

สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา. รวมคำบรรยาย ภาคสอง สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562 เล่มที่ 3 และ 4.