ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต

              

หมายตุ

               หลักสุจริต ตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นหลักสุจริตทั่วไป มีความหมายแบบกว้างว่า หมายถึง ความซื่อสัตย์ ความถูกต้อง

               หลักสุจริตทั่วไป ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นอกจากมาตรา 5 แล้ว ยังมีแทรกอยู่ในมาตรา 6, 368

               มีหลักสุจริตอีกษณะหนึ่งคือ หลักสุจริตเฉพาะเรื่อง มีกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 412, 413, 1299, 1300, 1303, 1310, 1311, 1312, 1329, 1330, 1331 และ 1332 มีความหมายไปในทางที่ว่า ไม่รู้ข้อเท็จจริง ไม่ได้เกี่ยวข้องรู้เห็นกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่มีส่วนรู้เห็น เป็นต้น

               ความสุจริต หมายถึงการกระทำโดยไม่รู้หรือไม่ควรรู้ถึงความบกพร่องแห่งสิทธิที่มีมาแต่อดีต (ฎีกาที่ 550/2490) แต่ถ้าการกระทำโดยรู้ถึงความบกพร่องแห่งสิทธิของตนจะถือว่าสุจริตไม่ได้ (ฎีกาที่ 1012/2504)

               การใช้สิทธิจะต้องกระทำโดยสุจริต การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย มีผลทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง(ฎีกาที่ 11482/2555)

               การกล่าวอ้างว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต จำเลยจะต้องให้การโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร เพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทในคำให้การจึงจะนำสืบหรือยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ฎีกาเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวได้(ฎีกาที่ 907/2561)

 

อ้างอิง

กันย์กัญญา ใจการวงค์สกุล. กฎหมายแพ่ง หลักทั่วไป. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2560.

สุพิศ ปราณีตพลกรัง. หลักและทฤษฎีกฎหมายแพ่ง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2560.