ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 36
ในกรณีที่ศาลสั่งให้รับทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 34 ไปแล้ว
หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่า
ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน
แต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด
หมายเหตุ
1.คดีร้องขอคืนของกลางมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามคำร้องของ
ผู้ร้องเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนของกลางให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริง
และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดหรือไม่(ฎีกาที่ 328/2563)ส่วนประเด็นที่ว่าสมควรริบรถของกลางหรือไม่
ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนรถของกลางต่อไปอีกไม่ได้
ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย(ฎีกาที่ 3069/2559)
2.เจ้าของแท้จริง คือ
ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงต้องเป็นเจ้าของแท้จริงในขณะที่มีการกระทำความผิด(ฎีกาที่
44/2562)
3.มิได้รู้เห็นเป็นใจ
คือไม่ได้ยินยอมหรือละเว้นไม่ขัดขวางโดยสมัครใจปล่อยให้ผู้อื่นใช้ทรัพย์สินของตนกระทำความผิด
การรู้เห็นเป็นใจด้วยนี้จึงมีอยู่ในขณะมีการกระทำความผิดและเกี่ยวพันกับการกระทำความผิดของผู้ใช้ทรัพย์สินนั้น(ฎีกาที่
44/2562)
4.การรู้เห็นเป็นใจ
คือรู้หรือคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าจะมีการนำทรัพย์ของกลางไปใช้กระทำความผิด(วิเชียร
ดิเรกอุดมศักดิ์. อาญาพิสดาร เล่ม 1,
2564.)
5.คู่ความในคดี
คือ ผู้ร้อง กับ พนักงานอัยการ (ฎีกาที่ 1291/2562)
6.ต้องวางเงินค่าใช้จ่าย/ค่าเดินหมาย
ค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องวางเพื่อใช้ในการส่งสำเนาคำร้องและหมายนัดให้แก่คู่ความในคดีร้องขอคืนของกลางซึ่งแม้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญาแต่ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 252
บัญญัติไว้มิให้เรียก ผู้ร้องจะต้องนำมาวางตามคำสั่งศาล(ฎีกาที่ 328/2563)
7.ต้องยื่นคำร้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด
คำว่า “หนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด”
หมายถึงกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่คดีเรื่องนั้นถึงที่สุด โดยเริ่มนับเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์หรือฎีกาแล้วไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกาตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 มิใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบของกลางแล้วไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์(ฎีกาที่
4702/2543)
ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกา(คำสั่งไม่รับฎีกา)ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่
14 มิถุนายน 2509 การนับระยะเวลา 1 ปี เพื่อยื่นคำร้องขอคืนของกลาง
นับต่อจากวันนั้นเป็นต้นไป การที่ผู้ร้องร้องขอคืนของกลางเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2510
จึงเป็นการร้องต่อศาลภายใน 1 ปี ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36(ฎีกาที่ 898/2512(ประชุมใหญ่))
คำพิพากษา ซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกาได้ ถ้ามิได้อุทธรณ์ฎีกา..ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลานั้นได้สิ้นสุดลง(ป.วิ.พ.มาตรา 147 วรรคสอง)
0 ความคิดเห็น