พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓
มาตรา ๘
ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(๑)
ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน
ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
(๒)
ถ้าลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไปโดยการแสดงเจตนาลวง หรือโดยการฉ้อฉล
ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
(๓)
ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น
ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
(๔) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร
หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร
ข. ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่
หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน หรือหลบไป โดยวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ
ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล
ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระ
(๕)
ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้
(๖)
ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใด ๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
(๗)
ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
(๘) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป
(๙) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
หมายเหตุ
ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้(มาตรา ๘ (๔))
ฎีกาที่ ๗๔๕๔/๒๕๔๘ การที่โจทก์ส่งหนังสือทวงถามให้จำเลยที่
๑ ชำระหนี้ถึง ๒ ครั้ง โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๑ ครั้งแรกได้รับแจ้งว่าจำเลยที่
๑ ย้ายที่อยู่ไม่ทราบที่อยู่ใหม่
และครั้งหลังมีการระบุเหตุขัดข้องว่าไม่มีเลขที่บ้านตามจ่าหน้า
ทั้งในชั้นส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ ๑ ที่บ้านเลขที่ดังกล่าวปรากฏในรายงานของพนักงาน
เดินหมายว่ามีลักษณะเป็นบ้านร้าง ไม่มีผู้อยู่อาศัยเป็นเวลานานแล้ว การกระทำของจำเลยที่
๑ เป็นการปิดสถานประกอบธุรกิจเพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา ๘ (๔) (ข) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี
หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ (มาตรา ๘ (๕))
ฎีกาที่ ๑๒๓๓๙/๒๕๕๘ เมื่อโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดี
สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการ อายัดเงินที่จำเลยที่ ๒ จะได้รับจากการเฉลี่ยทรัพย์ในคดีหมายเลขแดงที่
๒๙๙/๒๕๔๖ ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการดำเนินการให้
กรณีฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ ถูกบังคับคดีตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดสมุทรปราการ
ทางนำสืบของโจทก์จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๘ (๕) จำเลยที่
๒ มีหนี้สินล้นพ้นตัว เนื่องจากการยึด หมายความรวมถึงการอายัดด้วย
ฎีกาที่ ๑๐๗๘๑/๒๕๕๘ จำเลยที่ ๑
และที่ ๓ ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๔
ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้
กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐาน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๘ (๕) ว่าจำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว
จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย
ฎีกาที่ ๗๖๐๒/๒๕๕๓ โจทก์ตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต
ปรากฏว่าไม่พบทรัพย์สินของจำเลยแต่อย่างใด และจำเลยเสนอขอผ่อนชำระหนี้ให้เจ้าหนี้อื่นซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีที่จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดตาม
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ อีก ๓ คดี กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยเสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป
จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๘ (๕) (๘) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
คำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป (มาตรา ๘ (๘))
ฎีกาที่ ๕๘๘๔/๒๕๕๙ ตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่
๑๐ กันยายน ๒๕๕๒ ซึ่งศาลจังหวัดพระโขนงพิพากษาตามยอม รวม 4 คดี จำเลยตกลงยินยอมชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าทนายความแก่โจทก์และเจ้าหนี้อื่นอีก
๓ ราย ภายในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นระยะเวลา ๕ ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว
ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยเสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป
กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๘ (๘) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ (มาตรา ๘ (๙))
ฎีกาที่ ๗๙๐/๒๕๑๐ คำว่า “ซึ่งมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน”
ในพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา ๘ (๙) หมายความว่าในระหว่างการทวงถามครั้งแรกกับครั้งที่สองต้องมีระยะเวลาสามสิบวันเท่านั้น
0 ความคิดเห็น