ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา 6 ก่อนยื่นคำให้การ จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่โจทก์ได้ยื่นคำฟ้องไว้ขอให้โอนคดีไปยังศาลอื่นที่มีเขตอำนาจได้ คำร้องนั้นจำเลยต้องแสดงเหตุที่ยกขึ้นอ้างอิงว่าการพิจารณาคดีต่อไปในศาลนั้นจะไม่สะดวก หรือจำเลยอาจไม่ได้รับความยุติธรรมเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้นก็ได้

               ห้ามมิให้ศาลออกคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่ศาลที่จะรับโอนคดีไปนั้นได้ยินยอมเสียก่อน ถ้าศาลที่จะรับโอนคดีไม่ยินยอม ก็ให้ศาลที่จะโอนคดีนั้นส่งเรื่องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ขาด คำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

 

หมายเหตุ

               การโอนคดีไปยังศาลอื่นที่มีเขตอำนาจ[1]

               1. เป็นคดีที่มีเขตอำนาจตั้งแต่สองศาลขึ้นไป

               2. จำเลยเป็นผู้มีสิทธิขอโอนคดี

               3. จำเลยต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ

               4. ศาลที่รับโอนคดีต้องเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ

               5. ต้องแสดงเหตุในคำร้องว่าการพิจารณาคดีต่อไปในศาลนั้นจะไม่สะดวก หรือจำเลยอาจไม่ได้รับความยุติธรรม

               6. ศาลที่รับโอนคดีต้องยินยอม

               ฎีกาที่ 1330/2532 โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานีขอให้ลงโทษจำเลยฐานหมิ่นประมาทจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้รวมการพิจารณาคดีที่โจทก์ฟ้องเข้ากับคดีที่โจทก์อีกคนหนึ่งฟ้องจำเลยที่ศาลแขวงพระนครเหนือ โดยขอให้โอนคดีไปพิจารณาพิพากษาที่ศาลแขวงพระนครเหนือ แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต เช่นนี้จำเลยหาอาจยื่นคำร้องขอให้อธิบดีผู้ พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 6, 8 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ได้ไม่เพราะคดีอาญานั้น มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 23, 26 บัญญัติเรื่องการโอนคดีไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตราดังกล่าวมาปรับแก่กรณีของจำเลยได้

 

 



[1]             วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์, กฎหมาย วิ.แพ่ง เล่ม 1 (ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี 2564), (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงจันทร์การพิมพ์, 2564), หน้า 48.