ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                    มาตรา 203  ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

                    ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้

 

หมายเหตุ

                    ฎีกาที่ 8811/2556 สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส. ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน

                    ฎีกาที่ 11036/2553 สัญญาจะซื้อจะขายกำหนดวันชำระราคาและจดทะเบียนโอนว่าประมาณเดือนตุลาคม 2544 ไม่แน่ชัดว่าเป็นวันใดซึ่งอาจเป็นวันใดวันหนึ่งในเดือนตุลาคม จึงเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน โจทก์จำต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้โดยกำหนดเวลาชำระหนี้พอสมควร และจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวโดยชอบแล้ว การที่จำเลยไม่ชำระหนี้ในวันกำหนดโดยที่โจทก์เตรียมพร้อมจะชำระหนี้ส่วนของตน จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387

                    ฎีกาที่ 3353/2552 สัญญากู้ยืมเงินกำหนดเวลาชำระคืนเงินกู้ภายใน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญา จึงเป็นการกำหนดเวลาชำระไว้แน่นอน ส่วนทางปฏิบัติแม้จะมีการขยายเวลาให้ชำระกันบ้างก็ไม่มีผลทำให้สัญญาดังกล่าวกลายเป็นสัญญาที่ไม่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้

                    ฎีกาที่ 4636/2551 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโดยในสัญญากำหนดเรื่องการโอนไว้ว่า ผู้ขายจะโอนสิทธิให้ผู้ซื้อในภายหลังเมื่อผู้ซื้อต้องการให้โอน เป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคแรก

                    ฎีกาที่ 7875/2549  การซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดเวลาอันพึงชำระหนี้ไว้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันและฝ่ายจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ก็ย่อมชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 ดังนั้นเมื่อโจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว สิทธิในการเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าจากจำเลยที่ 1 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าจากโจทก์แต่ละคราว