ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา 7 บทบัญญัติในมาตรา 4 มาตรา 4 ทวิ มาตรา 4 ตรี มาตรา 4 จัตวา มาตรา 4 เบญจ มาตรา 4 ฉ มาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 6/1 ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติดังต่อไปนี้

               (1) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดให้เสนอต่อศาลนั้น

               (2) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่กำหนดไว้ในมาตรา 271

               (3) คำร้องตามมาตรา 101 ถ้าได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดแล้ว ให้เสนอต่อศาลนั้นในกรณีที่ยังไม่ได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใด ถ้าพยานหลักฐานซึ่งจะเรียกมาสืบหรือบุคคลหรือทรัพย์หรือสถานที่ที่จะต้องตรวจอยู่ในเขตศาลใด ให้เสนอต่อศาลนั้น

               (4) คำร้องที่เสนอให้ศาลถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาตที่ศาลได้ให้ไว้ก็ดี คำร้องที่เสนอให้ศาลถอดถอนบุคคลใดจากฐานะที่ศาลได้แต่งตั้งไว้ก็ดี คำร้องที่เสนอให้ศาลมีคำสั่งใดที่เกี่ยวกับการถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาตหรือที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งเช่นว่านั้นก็ดี คำร้องขอหรือคำร้องอื่นใดที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปแล้วก็ดี ให้เสนอต่อศาลในคดีที่ได้มีคำสั่ง การอนุญาต การแต่งตั้ง หรือคำพิพากษานั้น

 

หมายเหตุ

ป.วิ.พ. มาตรา 7 (1)

               ฎีกาที่ 1904/2559 แม้ ป.วิ.พ. ลักษณะ 2 ศาล หมวด 1 เขตอำนาจศาลได้บัญญัติเกี่ยวกับคำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลว่าให้ฟ้องหรือร้องขอเข้ามาในคดีเดิมได้ตามมาตรา 7 (1) แต่คดีนี้เป็นคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ช. และ ซ. เป็นคนไร้ความสามารถ ขอให้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาล มีผู้คัดค้านและผู้ร้องสอดต่างขอให้ตั้งตนเป็นผู้อนุบาลด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ ช. และ ซ. เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งผู้ร้อง ผู้คัดค้านและผู้ร้องสอดเป็นผู้อนุบาลร่วมกัน การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้บังคับ ศ. ซึ่งเป็นผู้ดูแลและรักษาเงินรายได้ของ ซ. ให้ส่งมอบเงินให้ ซ. โดย ศ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและไม่ได้เป็นคู่ความในคดีและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นผู้อนุบาลแต่อย่างใดว่าไม่ยอมส่งมอบเงินรายได้ของคนไร้ความสามารถ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 นั้น ชอบที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อนุบาลจะไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับ ศ. เป็นอีกคดีต่างหาก คำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่ใช่คำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 7 (1) ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอในคดีนี้ได้

               ฎีกาที่ 3593/2549 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเพื่อให้จำเลยนำไปถอนฟ้อง แต่จำเลยกับ อ. กลับสมคบกันกรอกข้อความลงในแบ่งทนายความดังกล่าวเป็นว่าโจทก์แต่งตั้ง อ. เป็นทนายความมีอำนาจประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ แล้วจำเลยกับ อ. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 138 อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ระเบียบนั้นเสียได้ โจทก์จึงชอบที่จะยกขึ้นว่ากล่าวกันในคดีเดิมที่อ้างว่ามีการพิจารณาที่ผิดระเบียบ จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ได้

 

2. ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2)          

               ฎีกาที่ 4086/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนที่ พ. มารดาโจทก์จะถึงแก่ความตาย โจทก์และจำเลยเคยร่วมกันทำข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินของ พ. ไว้ในคดีแพ่ง โดยทั้งสองฝ่ายตกลงยกที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์ของ พ. ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ประสงค์จะขอรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยไม่ยอมดำเนินการให้ ดังนี้ คำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องที่โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมแล้ว โดยอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) และมาตรา 302 วรรคหนึ่ง มิใช่มาฟ้องเป็นคดีใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

                

3. ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4)

               ฎีกาที่ 5540/2551 สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากในธนาคาร เป็นคนละส่วนกับสิทธิในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในที่ดินที่ผู้ร้องได้รับตามพินัยกรรม การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกในบัญชีเงินฝากดังกล่าว จึงเป็นการยื่นคำร้องขอใหม่เข้ามาในคดีเดิม มิใช่เป็นคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้น ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องขอเป็นคดีใหม่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในคดีเดิมจึงเป็นการมิชอบ

               ฎีกาที่ 7635/2546 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และคดีถึงที่สุดแล้วนั้น เมื่อผู้คัดค้านอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้าน โดยผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีนี้ในขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลภายนอกคดีมีอำนาจที่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ผู้คัดค้านชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลอย่างคดีมีข้อพิพาทเป็นคดีใหม่ และกรณีนี้มิใช่เป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4) เพราะคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ไม่ใช่คำสั่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4)