ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 7 ในการสอบสวน
ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย
ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลนั้น
ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี
ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก
จะออกหมายจับผู้นั้นมาก็ได้ แต่ห้ามมิให้ใช้บทบัญญัติว่าด้วยปล่อยชั่วคราว
ขังหรือจำคุกแก่ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคล
ในคดีที่นิติบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 2813/2562
แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นเพียงบุคคลสมมติโดยอำนาจของกฎหมายต้องดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทผู้แทนนิติบุคคลก็ตาม
แต่ความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลยังคงต้องพิจารณาตามหลักทั่วไปโดยต้องปรากฏว่าผู้แทนนิติบุคคลนั้นได้กระทำผิดโดยเจตนาตาม
ป.อ. มาตรา 59 เป็นองค์ประกอบสำคัญ
ฎีกาที่ 4205/2541
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 วรรคหนึ่งบัญญัติให้ในการสอบสวน
ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย
ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล
แล้วแต่กรณีคำว่า
ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นย่อมหมายถึง
ผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นตามกฎหมายเช่น กรรมการผู้จัดการของบริษัท
พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน
ก. กรรมการคนหนึ่งของบริษัทจำเลยในฐานะตัวแทนบริษัทจำเลย โดยมิได้สอบสวน อ.
กรรมการผู้จัดการและผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยและตามบันทึกคำให้การของก.
มีข้อความว่า ก. ไม่ขอให้การชี้สอบสวนจะไปให้การในชั้นศาล และยังให้การว่า
ก.เป็นกรรมการบริษัทจำเลย แต่ ก.ไม่มีอำนาจลงชื่อในการทำนิติกรรมของบริษัทจำเลย
ทั้งไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยมอบอำนาจให้ ก. กระทำการแทนบริษัทจำเลยได้ ดังนี้
พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน ก.
ในฐานะตัวแทนบริษัทจำเลยเกี่ยวกับคดีอาญาคดีนี้
กรณีย่อมถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนบริษัทจำเลย โดยชอบแล้ว
พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลย เป็นคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 120
ฎีกาที่ 3117/2533
กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไม่มีการจับกุมนิติบุคคลนั้น
เพราะนิติบุคคลไม่อยู่ในสภาพที่จะให้จับกุมได้คงให้ใช้
วิธีออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลมาเพื่อสอบสวนหรือพิจารณาแล้วแต่กรณี
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7
ฎีกาที่ 2797/2529
การฟ้องคดีอาญาต่อห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคล
จะต้องมีหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นผู้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงจะดำเนินคดีได้
ถ้าหุ้นส่วนผู้จัดการไปต่างประเทศไม่อยู่ในขณะฟ้อง ต้องถือว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่มีตัวอยู่อย่างสมบูรณ์ตามกฎหมาย
และต้องถือว่าไม่มีตัวจำเลยมาศาลในวันฟ้อง ศาลรับฟ้องไม่ได้
ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 165
ฎีกาที่ 1620/2508 จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด เป็นนิติบุคคล จึงเป็นเพียงบุคคลสมมุติโดยอำนาจของกฎหมาย ดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทด้วยตนเองไม่ได้ ต้องดำเนินหรือปฏิบัติงานโดยผู้แทน จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินหรือปฏิบัติงานของบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทจำเลยที่ 1 กระทำผิด ก็ได้ชื่อว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ด้วย
0 ความคิดเห็น