ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา 2  ในประมวลกฎหมายนี้

               (7)คำร้องทุกข์หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 4560/2558 บันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ หรือพยาน ระบุว่า วันที่ 16 ตุลาคม 2554 โจทก์ร่วมที่ 1 ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเขาสมิงพร้อมกับร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงรถ โดยในคำให้การดังกล่าวปรากฏชื่อและที่อยู่ของโจทก์ร่วมที่ 1 ในฐานะผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่างๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้ เข้าลักษณะเป็นคำร้องทุกข์ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ประกอบมาตรา 123 แล้ว

               ฎีกาที่ 421/2556 คดีนี้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนทราบเรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนจึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2547 โดยผู้เสียหายแต่ละคนต่างให้การในรายละเอียดกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาให้จำเลยได้รับโทษ ซึ่งพนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปี และลายมือชื่อพนักงานสอบสวนผู้บันทึกกับลายมือชื่อผู้เสียหายแต่ละคนในฐานะผู้ร้องทุกข์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และ 123 วรรคสาม

               ฎีกาที่ 22267/2555 กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง

              

               ฎีกาที่ 3915/2551 ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 มิได้บัญญัติว่า การร้องทุกข์ของผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือบุคคลดังกล่าวต้องลงลายมือชื่อในการร้องทุกข์ของผู้เยาว์ด้วย ดังนั้น ผู้เยาว์จึงมีอำนาจร้องทุกข์ด้วยตนเองได้

               ฎีกาที่ 6894/2549 หนังสือร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมซึ่งมีข้อความว่า มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่บริเวณศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ขอแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) แล้วไม่จำเป็นต้องระบุชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำความผิด

               ฎีกาที่ 5848-5849/2555 ญาติของผู้เสียหายไปแจ้งความแก่เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่แต่เพียงว่า ผู้เสียหายได้หายตัวไปโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงมาแจ้งความเพื่อขอให้เจ้าพนักงานตำรวจช่วยสืบหาตัวผู้เสียหายให้เท่านั้น ไม่มีรายละเอียดอื่น ไม่มีแม้แต่ข้อความที่ระบุว่าผู้แจ้งเชื่อว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น การแจ้งความเช่นนี้ จึงมิใช่คำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) (8)