ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา 28  บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

               (1) พนักงานอัยการ

               (2) ผู้เสียหาย

 

หมายเหตุ

(1) พนักงานอัยการ

               ฎีกาที่ 11858/2557 ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้ทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย เป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ โดยในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่จำต้องมีการสอบสวนความผิดนั้นมาก่อน แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ทั้งต้องเป็นการสอบสวนที่ไม่บกพร่องหรือผิดพลาดในส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วต้องถือว่า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันมีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง การสอบสวนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา 2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ

 

(2) ผู้เสียหาย 

               ฎีกาที่ 2252/2560 โจทก์เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงเป็นคนต่างด้าวตามความหมายใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4 แม้โจทก์ถือหุ้นไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท พ. แต่เงินทุนในบริษัท พ. ที่แท้จริงเป็นของโจทก์เกินกึ่งหนึ่งของเงินลงทุน ซึ่งไม่เป็นไปตามทุนที่จดทะเบียน ถือว่าบริษัท พ. และโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ดิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 

               ฎีกาที่ 3150/2557 ผู้เป็นคู่ความในคดีต้องเป็นบุคคลซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล ได้แก่ (1) พนักงานอัยการ (2) ผู้เสียหาย และคำว่าบุคคลนั้น ตาม ป.พ.พ. ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์มีวัตถุประสงค์เก็บรวบรวมเงินจากสมาชิก และให้สมาชิกกู้ยืมจากกลุ่มออมทรัพย์ อันมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ เมื่อมิได้จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1015 โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคล และตามคำฟ้องที่ระบุว่าคณะกรรมการและสมาชิก โจทก์มีมติให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว โจทก์ย่อมมิใช่บุคคลธรรมดาเช่นกัน ไม่อาจเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องทั้งในคดีส่วนอาญา และคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา