ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา 36 คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนำมาฟ้องอีกหาได้ไม่ เว้นแต่จะเข้าอยู่ในข้อยกเว้นต่อไปนี้

               (1) ถ้าพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีอาญาซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นไป การถอนนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่

               (2) ถ้าพนักงานอัยการถอนคดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวไป โดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย การถอนนั้นไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่

               (3) ถ้าผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องคดีอาญาไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นเสีย การถอนนี้ไม่ตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่ เว้นแต่คดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 10354/2559 แม้คำร้องขอถอนฟ้องคดีก่อนจะระบุว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีดังกล่าวอีกต่อไป จึงขอถอนฟ้อง โดยปรากฏว่าในคำฟ้องคดีดังกล่าวโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้อง แต่ทนายโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ ทั้งปรากฏว่าในวันรุ่งขึ้นหลังจากศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้มายื่นคำฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ในมูลคดีอาญาความผิดเดียวกันกับคดีก่อนและขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในบทมาตราเดียวกัน โดยในคำฟ้องใหม่โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องใหม่ถูกต้องตามกฎหมายเชื่อว่าเหตุที่โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อนเนื่องจากเห็นว่าโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้อง ซึ่งเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงประสงค์จะถอนฟ้องแล้วยื่นฟ้องใหม่ให้ถูกต้อง การถอนฟ้องคดีก่อนจึงมิใช่การถอนฟ้องเด็ดขาดตามความหมายใน ป.วิ.อ. มาตรา 36 ไม่ต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่อีก

               ฎีกาที่ 14823/2558 โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาแล้วอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย. ที่โจทก์และทายาทของ ย. เป็นเจ้าของรวมอยู่ โดยขอให้ลงโทษฐานโกงเจ้าหนี้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องไปแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการกระทำเดียวกันอีก แม้คำฟ้องทั้งสองคดีจะบรรยายไม่ตรงกันทุกตอน และบทมาตราที่ขอให้ลงโทษแตกต่างกันบางมาตรา แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำอันเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีแรก มิใช่ถือเอาคำบรรยายฟ้องหรือฐานความผิดที่โจทก์ตั้งเอาแก่จำเลยเป็นเกณฑ์ มิฉะนั้นแล้วจำเลยกระทำผิดครั้งเดียว โจทก์มีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยได้หลายครั้งโดยไม่จบสิ้น จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 36 ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย

               ฎีกาที่ 9454/2553 แม้ว่าก่อนคดีนี้โจทก์ร่วมเคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341, 83 ต่อศาลจังหวัดนางรอง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 ก็ตามแต่คดีนี้พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ป.อ. มาตรา 83, 91, 341 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 482,000 บาท แก่ผู้เสียหายต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2544 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2545 โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ส่วนคดีอาญาของศาลจังหวัดนางรองที่โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องนั้นโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและศาลจังหวัดนางรองมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องจำหน่ายคดีจากสารบบความเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2545 ดังนั้น ในคดีความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยนั้น โจทก์ร่วมได้ถอนฟ้องไปในภายหลังที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ และภายหลังที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้อีกด้วย การถอนฟ้องดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาด และย่อมไม่มีผลกระทบต่อคดีนี้ กรณีไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 36 (3) และ 39 (2)

               ฎีกาที่ 7254/2551 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1839/2545 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นผู้เสียหายเคยฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โดยอาศัยเหตุจากการที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 199 ให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1839/2545 ของศาลชั้นต้น ได้ขอถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวไป ซึ่งเป็นสิทธิส่วนตัวของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1839/2545 ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะกระทำได้ ไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายรายอื่นที่จะฟ้องจำเลยได้อีก แม้มูลเหตุที่จะฟ้องเป็นเรื่องการโอนที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์รายเดียวกันก็ตาม ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 36 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง