ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา 40  การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 4081/2564 คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมายถึง คดีที่มีการกระทำผิดอาญานั้นก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องทางแพ่งติดตามมาด้วย

               ฎีกาที่ 3843/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่และให้จำเลยทั้งสี่รับผิดทางแพ่งซึ่งมีมูลกระทำความผิดในทางอาญา ถือเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมกันมากับคดีอาญา ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 40 

               ฎีกาที่ 8192/2560 การที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาโดยกำหนดให้รัฐ (พนักงานอัยการ) และผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีส่วนแพ่งรวมไปกับคดีอาญาและให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งไปในคราวเดียวกัน โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องกันใหม่ ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยสะดวกและรวดเร็ว

               ฎีกาที่ 12714/2558 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 กับฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน แม้การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ถูกถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แต่ราคาหุ้นต่อหน่วยรวมเป็นเงิน 8,000,000 บาท ไม่ใช่ความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำอันเป็นความผิดทั้งสองฐานตามฟ้อง จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์จะขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ให้ในคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องอันเป็นการรับฟ้องในคดีส่วนแพ่งด้วยจึงเป็นการมิชอบ