ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 155 การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ
แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต
และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น
ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ
หมายเหตุ
1. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง เจตนาลวง
ฎีกาที่ 8333/2560
ภายหลังจากจำเลยกับ ส. จดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับ ส.
ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน
ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแล ส. เมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
ที่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า
การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส. กระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น
จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง
แม้จำเลยจะเบิกความว่า
เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย
แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไป
เพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา
เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่
มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้
ส. ใช้บังคับมิได้
จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของ ส. ที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง
ๆ ได้
ฎีกาที่ 3440-3441/2559
โจทก์บรรยายฟ้องว่า
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งติดจำนองไว้กับธนาคาร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ไถ่จำนองให้แก่ธนาคารแทนโจทก์
โจทก์จึงจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2
โดยมิได้มีเจตนาที่จะซื้อขายกันอย่างแท้จริง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้มีเจตนาเป็นเจ้าของแต่มีเจตนายกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์
ดังนั้นตามรูปคดีของโจทก์ หาใช่เป็นเรื่องนิติกรรมอำพรางไม่
เพราะนิติกรรมอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสองนั้น
จะต้องมีนิติกรรม 2 นิติกรรม
โดยบุคคลทั้งสองฝ่ายแสร้งแสดงเจตนาทำนิติกรรมอันหนึ่งอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งซึ่งมีเจตนาแท้จริงมุ่งผูกนิติสัมพันธ์กัน
แต่ตามคำฟ้องโจทก์คงมีเพียงนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเท่านั้น หาได้มีนิติกรรม
2 นิติกรรมอำพรางกันอยู่ไม่ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้รับจำนองแทนโจทก์
ก็ไม่ใช่นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำกับโจทก์ ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า
โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
ซึ่งตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง
ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งจะยกขึ้นกล่าวอ้างเมื่อใดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172
โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้
แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปีก็ตาม
สิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
2. มาตรา 155 วรรคสอง นิติกรรมอำพราง
ฎีกาที่ 1335/2561
การพิจารณาว่าคู่สัญญาได้แสดงเจตนาลวงทำนิติกรรมขึ้นเพื่อเป็นการอำพรางนิติกรรมอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 155 วรรคสองหรือไม่นั้น
ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีและนิติกรรมที่คู่สัญญาทำขึ้นโดยเปิดเผยเพื่อแสดงต่อบุคคลทั่วไปเป็นสำคัญ
โดยหาจำต้องพิจารณาว่าคู่สัญญามีการทำนิติกรรมที่แสดงเจตนาที่แท้จริงไว้ต่อกันอีกฉบับหนึ่งไม่
เพราะหากมีการทำนิติกรรมที่แสดงเจตนาที่แท้จริงไว้แล้ว
ก็จะไม่มีปัญหาให้พิจารณาเรื่องนิติกรรมอำพราง
เพราะคู่สัญญาสามารถนำนิติกรรมที่ทำไว้ต่างหากและเป็นการแสดงเจตนาที่แท้จริงมาฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยตรง
โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น
มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง
สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยให้ที่ดินแก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันและย่อมถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์กับจำเลยและถูกอำพรางไว้ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ
จึงต้องเพิกถอนสัญญาดังกล่าว เป็นผลให้ที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลย
โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลย
0 ความคิดเห็น