ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 172 โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ 

               ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 3072/2536 ผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกเอาความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้นั้น หมายถึง ผู้ที่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ หากนิติกรรมที่กล่าวอ้างว่าเป็นโมฆะเป็นผลหรือไม่เป็นผลหรือกลับกัน คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าบิดาโจทก์ทั้งสี่ซื้อที่ดินพิพาทมาจาก ส. ผู้ล้มละลาย ต่อมาบิดาโจทก์ทั้งสี่ถึงแก่กรรม ที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยให้การต่อสู้ว่าบิดาโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก ส. ในขณะที่ ส. เป็นบุคคลล้มละลาย นิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ดังนี้ จำเลยจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์หากนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับบิดาโจทก์ทั้งสี่เป็นโมฆะ จำเลยจึงชอบที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้

               ฎีกาที่ 8798/2559 : ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มิได้กำหนดเวลา ในการกล่าวอ้างความเสียเปล่าไว้ ดังนั้นผู้มีส่วนได้เสียจึงมีสิทธิยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะ กรรมขึ้นกล่าวอ้างได้นับแต่เวลาที่โมฆะกรรมเกิดขึ้นตลอดไปไม่ว่าในเวลาใด ๆ แม้จะเกิน 10 ปี แล้วก็ไม่ขาดอายุความหรือเสียสิทธิในการกล่าวอ้างตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว

               การคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมที่ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ ตามมาตรา 172 วรรคสองนั้น บทบัญญัติมาตรา 407, 411 และมาตรา 419 หมายถึงคู่กรณีที่ก่อให้เกิดนิติกรรมที่เป็นโมฆะเท่านั้น หารวมถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นที่ไม่ใช่คู่กรณีที่ก่อให้เกิดโมฆะกรรมดังเช่นลูกหนี้และผู้คัดค้านไม่ เพราะผู้มีส่วนได้เสียตามบทบัญญัติข้างต้นหมายถึงบุคคลที่จะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์อันเกี่ยวกับโมฆะกรรม ไม่จำกัดเฉพาะคู่กรณีหรือผู้สืบสิทธิ์ หรือรับโอนสิทธิจากคู่กรณีเท่านั้น แต่หมายถึงเจ้าหนี้ของคู่กรณีแห่งนิติกรรม ลูกหนี้ร่วมของคู่กรณี ผู้ค้ำประกันของคู่กรณี ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องด้วยในมูลกรณี เป็นต้น