ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา 63 ถ้าผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้

 

หมายเหตุ

               ผลธรรมดา คือ ผลที่บุคคลทั่วๆ ไปสามารถคาดเห็นได้เรื่องผลธรรมดานี้จะนำไปใช้เฉพาะกรณีความผิดที่ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลจากการกระทำนั้นไม่เกี่ยวกับเจตนาหรือประมาทของผู้กระทำ (อ้างอิง ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, หลักกฎหมายอาญาภาคทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ 14 แก้ไขเพิ่มเติม (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2559), น. 44)

               ฎีกาที่ 11643/2556 จำเลยมานั่งดื่มสุราที่บ้านผู้ตาย แต่ถูกผู้ตายด่าว่า จึงโกรธใช้ขวานตีไปที่แขนผู้ตายและได้ทำร้ายผู้ตาย ซึ่งจากคำเบิกความของแพทย์และรายงานการชันสูตรพบว่าบาดแผลฉีกขาดที่ศีรษะยาว 5 เซนติเมตร กะโหลกศีรษะไม่แตก และไม่ปรากฏว่ามีบาดแผลฉีกขาดจากส่วนใดอีก สาเหตุการตายไม่ได้ถูกทำร้ายจากการผ่าชันสูตรผู้ตายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหากเลือดออกมากจะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ทำให้จากข้อเท็จจริง จึงฟังได้ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าแต่มีเจตนาทำร้ายผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 

               ฎีกาที่ 313/2529 (ประชุมใหญ่) ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ.มาตรา 297 เป็นเหตุทำให้ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทำโดยที่ผู้กระทำไม่จำต้องมีเจตนาต่อผลที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้นตัวการที่ร่วมทำร้าย  แม้จะไม่มีเจตนาให้ผู้นั้นได้รับอันตรายสาหัส  หรือมิได้เป็นผู้ลงมือกระทำให้เกิดผลขึ้น ก็ต้องรับผิดในผลนั้นด้วย