ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา 18 โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้

               (1) ประหารชีวิต

               (2) จำคุก

               (3) กักขัง

               (4) ปรับ

               (5) ริบทรัพย์สิน

               โทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี

               ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี

               มาตรา 19 ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย 

               หลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิต ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา 


หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 17282/2555 การพิจารณาว่ากฎหมายบทใดมีโทษหนักกว่ากันต้องถือตามลำดับที่วางไว้ใน ป.อ. มาตรา 18 และหากเป็นโทษในลำดับเดียวกันให้ถือตามบทที่มีอัตราโทษขั้นสูงกว่าเป็นเกณฑ์

               ฎีกาที่ 5331/2563 การพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบขับขี่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ไม่ใช่โทษที่ใช้สำหรับลงโทษผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 18 

               ฎีกาที่ 5828/2558 การส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมเป็นวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน มิใช่การลงโทษจำคุกซึ่งเป็นโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 (ฎีกาที่ 415/2560 ประชุมใหญ่)

               ฎีกาที่ 12315/2558 กฎหมายที่มีโทษทางอาญา เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ การริบทรัพย์สินเป็นโทษทางอาญาประการหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 18 (5) ดังนั้น การริบทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นที่มิได้กระทำผิด ย่อมมีผลเท่ากับลงโทษผู้ที่มิได้กระทำความผิดซึ่งกระทำมิได้

               ฎีกาที่ 990/2550  ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุ 18 ปี 11 เดือน ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นคุณตาม ป.อ. มาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 จึงไม่ต้องห้ามมิให้นำโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมาบังคับใช้แก่จำเลยที่ 1