ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 218 ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย
และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี
หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 9076/2558
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า
โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น
ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องย้อนไปวินิจฉัยว่าโจทก์มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยหรือไม่
ฎีกาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่จำเลยอ้าง
เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ฎีกาที่ 1303/2555
การแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
นั้น ต้องเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง
ซึ่งการแก้บทลงโทษมีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษจากบทหนึ่งเป็นอีกบทหนึ่ง
หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิม ซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและสูงแตกต่างกันมาก
และลักษณะความผิดในแต่ละวรรคนั้นแตกต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน
เป็นต้น(ฎีกาที่ 5455/2553, ฎีกาที่ 7511/2547)
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6
พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ.
มาตรา 335 (1) วรรคแรก โดยไม่ได้ใช้อัตราโทษตามที่มาตรา 336
ทวิ กำหนดไว้นั้น ลักษณะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคแรก และวรรคสองไม่แตกต่างกันและมีระวางโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ 1
ปี เหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งมาตรา 335 วรรคแรก ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 5 ปี วรรคสอง
ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 7 ปี ส่วน ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง
หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่แก้จำนวนโทษมิได้แก้บทลงโทษ
จึงเป็นกรณีแก้ไขเล็กน้อย
ฎีกาที่ 8344/2544
ความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิต
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า
จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานเวลากลางคืนลดโทษให้คนละหนึ่งในสามแล้ว
คงจำคุก 4 ปี เป็นการแก้ทั้งบทและโทษกรณีเป็นการแก้ไขมาก จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ฎีกาที่ 6509/2544
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000
บาท
และให้รอการลงโทษไว้แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี แต่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากคือนอกจากแก้โทษจำคุกให้เบาลงและเพิ่มโทษปรับแล้วยังให้รอการลงโทษไว้ด้วย
จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
0 ความคิดเห็น