ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา 3 บุคคลดังระบุในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอำนาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

               (1) ร้องทุกข์

               (2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ

               (3) เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

               (4) ถอนฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

               (5) ยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัว

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 3235/2537 ป.วิ.อ. มาตรา 5 เป็นกรณีที่ให้อำนาจบุคคลที่ระบุไว้ในมาตรานี้ มีอำนาจกระทำกิจการที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 3 โดยไม่ต้องมีการมอบอำนาจกัน กิจการใดจะมอบอำนาจกันได้หรือไม่ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมดา สุดแต่ว่ากรณีใดมีกฎหมายห้ามหรือเป็นกรณีตามสภาพต้องทำเองหรือไม่ การฟ้องคดีอาญาไม่มีกฎหมายใดบังคับว่า ผู้เสียหายจะต้องทำด้วยตนเองทั้งตามสภาพของการฟ้องคดีอาญา ก็มิใช่เป็นเรื่องที่จะต้องกระทำด้วยตนเองเฉพาะตัว โจทก์จึงมีอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้องคดีแทนได้

               ฎีกาที่ 5126/2549 ตามหลักฐานบันทึกการรับเงินที่จำเลยได้ชดใช้ให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายทั้งสี่ปรากฏว่าในส่วนของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มีการลงชื่อโดยภริยาของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 แม้จะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่ใช่บุคคลผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 4, 5 และ 6 จึงไม่มีอำนาจยอมความแทนผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (5) บันทึกดังกล่าวไม่มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงที่จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ระงับไป คงมีผลเพียงให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปเฉพาะแต่ความผิดข้อหาฉ้อโกงที่จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เท่านั้น

               ฎีกาที่ 3902/2549  บทบัญญัติของ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22, 24 และ 25 เป็นบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้แต่เฉพาะในทางแพ่งเท่านั้น หาได้รวมถึงการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีอาญาด้วยไม่ กรณีที่โจทก์เป็นผู้เสียหายฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาบุกรุกโดยมิได้มีคำขอในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายหรือขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ แม้โจทก์จะถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องร้องคดีอาญาได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) และมาตรา 5 (3) ประกอบมาตรา 28 (2) หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องแทนก็ได้

               ฎีกาที่ 6475/2537 ผู้เสียหายในคดีอาญาซึ่งยังเป็นผู้เยาว์จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ต้องกระทำโดยผู้แทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3,5 และ 6 การที่ผู้เสียหายซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยลงชื่อแต่งตั้งทนายความด้วยตนเองแต่ลำพังเพื่อให้ทนายความดำเนินกระบวนพิจารณานั้น มิได้เป็นไปตามบทบังคับอันว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามกฎหมาย แต่ศาลจะยกคำร้องหรือไม่รับพิจารณาเสียทีเดียวยังไม่ได้ ชอบที่จะสั่งให้แก้ไขความบกพร่องเสียก่อนตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 56 วรรคสี่ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 6 และ 15