ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา 46 บรรดากระบวนพิจารณาเกี่ยวด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีแพ่งทั้งหลายซึ่งศาลเป็นผู้ทำนั้น ให้ทำเป็นภาษาไทย

               บรรดาคำคู่ความและเอกสารหรือแผ่นกระดาษไม่ว่าอย่างใด ๆ ที่คู่ความหรือศาลหรือเจ้าพนักงานศาลได้ทำขึ้นซึ่งประกอบเป็นสำนวนของคดีนั้น ให้เขียนเป็นหนังสือไทยและเขียนด้วยหมึกหรือดีดพิมพ์หรือตีพิมพ์ ถ้ามีผิดตกที่ใดห้ามมิให้ขูดลบออก แต่ให้ขีดฆ่าเสียแล้วเขียนลงใหม่ และผู้เขียนต้องลงชื่อไว้ที่ริมกระดาษ ถ้ามีข้อความตกเติมให้ผู้ตกเติมลงลายมือชื่อ หรือลงชื่อย่อไว้เป็นสำคัญ

               ถ้าต้นฉบับเอกสารหรือแผ่นกระดาษไม่ว่าอย่างใด ๆ ที่ส่งต่อศาลได้ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ศาลสั่งคู่ความฝ่ายที่ส่งให้ทำคำแปลทั้งฉบับหรือเฉพาะแต่ส่วนสำคัญ โดยมีคำรับรองมายื่นเพื่อแนบไว้กับต้นฉบับ

               ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดที่มาศาลไม่เข้าใจภาษาไทยหรือเป็นใบ้หรือหูหนวกและอ่านเขียนหนังสือไม่ได้ ให้ให้คู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องจัดหาล่าม

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 5914/2548 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งอุทธรณ์ของจำเลยมีรอยลบด้วยหมึกสีขาวแล้วเขียนทับลงบนรอยลบ อันเป็นการขูดลบโดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสอง เป็นการไม่ชอบ ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียม อ้างว่าจำเลยไม่สามารถหาเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลได้ทันตามกำหนด อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ขัดแย้งกับคำสั่งของศาลชั้นต้นบนรอยลบด้วยหมึกสีขาวที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่แก้ไขคำสั่งเดิมแล้วมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว เมื่อปรากฏแก่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเช่นนี้ ย่อมมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งเสียได้ตามมาตรา 27 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยไม่ต้องให้จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนเสียก่อน ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งแก้ไขกระบวนพิจารณาที่มิชอบของศาลชั้นต้น โดยกำหนดเวลาให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางต่อศาลชั้นต้น

               ฎีกาที่ 2138/2534 หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่มีการตกเติมข้อความโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับดังที่จำเลยอ้าง เพราะไม่มีการตกเติมแต่ประการใด การเขียนด้วยปากกาหรือน้ำหมึกลงในช่องว่างที่เว้นไว้เพื่อระบุชื่อคนที่ถูกต้อง ไม่ต้องด้วยความตาม ป.วิ.พ.มาตรา 46 วรรคสอง

               ฎีกาที่ 245/2550 เอกสารคำแปลฉบับภาษาอังกฤษของใบมรณบัตรและใบสูติบัตร มีสำเนาเอกสารเป็นภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้นแนบท้ายและมีตราประทับของสถานเอกอัครราชทูตไทยประทับรับรอง ศาลจึงรับฟังข้อความในฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้

               ฎีกาที่ 153/2550 เอกสารภาษาต่างประเทศที่โจทก์ยื่นต่อศาลโดยไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย แต่เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ทำคำแปลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสามหรือไม่ก็ได้ เมื่อศาลไม่ได้สั่งให้โจทก์ทำคำแปลก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

               ฎีกาที่ 2669/2544 เอกสารที่ต้องแนบมาท้ายคำฟ้องตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 7 ก็เพื่อจะให้จำเลยได้รู้ว่ามีเอกสารใดที่เกี่ยวข้องตามคำฟ้องบ้างในเบื้องต้น อันจะทำให้การดำเนินคดีเป็นไปโดยความสะดวกและรวดเร็วเท่านั้น แม้เอกสารดังกล่าวเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยก็ไม่มีผลทำให้ฟ้องที่มีการบรรยายฟ้องโดยชอบแล้วกลายเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่ในชั้นพิจารณาจะต้องมีคำแปลเป็นภาษาไทยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 46

               ฎีกาที่ 757/2545 แม้ ส. จะเป็นเพียงเพื่อนผู้เสียหายซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุและทางราชการมิได้รับรองการเป็นล่ามก็ตาม เมื่อไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามมิให้เป็นล่ามไว้ การเบิกความของผู้เสียหายซึ่งเป็นชาวต่างประเทศและไม่เข้าใจภาษาไทยโดยมี ส. เป็นล่ามจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 46 วรรคสี่ และ ป.วิ.อ. มาตรา 15