ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา 40  กักกัน คือการควบคุมผู้กระทำความผิดติดนิสัยไว้ภายในเขตกำหนด เพื่อป้องกันการกระทำความผิด เพื่อดัดนิสัย และเพื่อฝึกหัดอาชีพ

               มาตรา 41  ผู้ใดเคยถูกศาลพิพากษาให้กักกันมาแล้ว หรือเคยถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนมาแล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งในความผิดดังต่อไปนี้ คือ

               (1) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 209 ถึงมาตรา 216

               (2) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 217 ถึงมาตรา 224

               (3) ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 240 ถึงมาตรา 246

               (4) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 ถึงมาตรา 286

               (5) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 288 ถึงมาตรา 290 มาตรา 292 ถึงมาตรา 294

               (6) ความผิดต่อร่างกาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 ถึงมาตรา 299

               (7) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ถึงมาตรา 320

               (8) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 340 มาตรา 354 และมาตรา 357

               และภายในเวลาสิบปีนับแต่วันที่ผู้นั้นได้พ้นจากการกักกัน หรือพ้นโทษ แล้วแต่กรณี ผู้นั้นได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดในบรรดาที่ระบุไว้นั้นอีกจนศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนสำหรับการกระทำความผิดนั้น ศาลอาจถือว่า ผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย และจะพิพากษาให้กักกันมีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าสามปีและไม่เกินสิบปีก็ได้

               ความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีนั้น มิให้ถือเป็นความผิดที่จะนำมาพิจารณากักกันตามมาตรานี้

               มาตรา 42  ในการคำนวณระยะเวลากักกัน ให้นับวันที่ศาลพิพากษาเป็นวันเริ่มกักกัน แต่ถ้ายังมีโทษจำคุกหรือกักขังที่ผู้ต้องกักกันนั้นจะต้องรับอยู่ก็ให้จำคุกหรือกักขังเสียก่อน และให้นับวันถัดจากวันที่พ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากกักขังเป็นวันเริ่มกักกัน

               ระยะเวลากักกัน และการปล่อยตัวผู้ถูกกักกัน ให้นำบทบัญญัติมาตรา 21 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา 43  การฟ้องขอให้กักกันเป็นอำนาจของพนักงานอัยการโดยเฉพาะ และจะขอรวมกันไปในฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกันหรือจะฟ้องภายหลังก็ได้

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 422/2507 ก่อนใช้ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ.2479 มาตรา 5 บัญญัติให้ถือกักกันเป็นโทษอาญาสถานหนึ่ง เมื่อใช้ประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 15 ให้เปลี่ยนโทษกักกันมาเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยโทษกักกันจึงไม่ใช่โทษอาญาเสียแล้ว แต่บทบัญญัติมาตรา 15 นี้ย่อมไม่ย้อนหลังไปบังคับถึงโทษกักกันที่ได้เสร็จสิ้นพ้นโทษไปแล้ว

               จำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้กักกันมีกำหนด 3 ปี พ้นโทษไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2498 ก่อนใช้พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ.2499 และก่อนใช้ประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้ โทษกักกันที่จำเลยได้รับเสร็จสิ้นไปแล้วก่อนประมวลกฎหมายอาญาออกใช้ ก็คงถือเป็นโทษอยู่ ย่อมได้รับการล้างมลทินโดยพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ.2499 มาตรา 3 จะกักกันจำเลยโดยอาศัยเหตุที่จำเลยเคยถูกกักกันมาแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 อีกหาได้ไม่

               ฎีกาที่ 698/2563 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรและบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์มาแล้ว 6 คดี หลังจากพ้นโทษทั้งหกคดีแล้ว จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาสิบปีนับแต่จำเลยพ้นโทษ ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุไว้ ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมิใช่ข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น จึงไม่อยู่ในบังคับที่ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานลักทรัพย์และรับว่าเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษตามฟ้องจริง โจทก์จึงไม่ต้องนำพยานเข้าสืบ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพดังกล่าวได้ ทั้งเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำให้การของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ กับเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษในคดีอื่นๆ อีก 6 คดี ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์และจำเลยกระทำผิดในขณะที่มีอายุเกินกว่าสิบแปดปี จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้ว ภายในเวลาสิบปีจำเลยมากระทำผิดคดีนี้ฐานลักทรัพย์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนอีก จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นจะนำมาพิจารณากักกันจำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) ได้

               ฎีกาที่ 196/2510 ฟ้องขอให้กักกัน หาใช่ฟ้องเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยเพื่อให้ศาลลงโทษตามความผิดไม่ จึงไม่ต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ และแม้จะมิได้บรรยายว่าโจทก์ฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกันวันเดือนปีใด ไม่อาจทราบว่าภายในอายุความหรือไม่ก็ตาม เมื่อคดีนั้นเป็นคดีของศาลชั้นต้น โจทก์ได้ระบุอ้างเป็นพยานไว้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะเอาสำนวนคดีนั้นมาตรวจดูได้

               ฎีกาที่ 24/2513 ผู้ว่าคดีศาลแขวงย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า พนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 43 ทั้งนี้โดยนัยแห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 5 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(5) ฉะนั้นจึงย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้กักกันจำเลยได้