ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 71 ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 336 วรรคแรก และมาตรา 341 ถึงมาตรา
364 นั้น ถ้าเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยา หรือภริยากระทำต่อสามี
ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ
ความผิดดังระบุมานี้
ถ้าเป็นการกระทำที่ผู้บุพการีกระทำต่อผู้สืบสันดาน ผู้สืบสันดานกระทำต่อผู้บุพการี
หรือพี่หรือน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกระทำต่อกัน
แม้กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ก็ให้เป็นความผิดอันยอมความได้
และนอกจากนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 3756
– 3757/2550 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 335 (7) วรรคแรก มาตรา 336 ทวิ
แม้ศาลชั้นต้นจะระบุว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 336 ทวิ มาด้วย แต่ตามมาตรา 336 ทวิ
เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดอาญา มาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักขึ้นกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง
หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากจากบทมาตราดังกล่าวไม่ การกระทำความผิดของจำเลยที่
1 เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคแรก แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับโทษในความผิดดังกล่าว
ฎีกาที่ 2185/2532
ทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักไปเป็นทรัพย์ที่พี่สาวจำเลยและสามีของพี่สาวจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกัน
มิใช่ทรัพย์ของพี่สาวจำเลยเพียงผู้เดียว หากจำเลยลักทรัพย์ดังกล่าวไปจริงตามฟ้อง
จำเลยก็มิได้กระทำต่อพี่สาวจำเลยแต่เพียงผู้เดียว
แต่กระทำต่อสามีของพี่สาวจำเลยซึ่งมิใช่พี่หรือน้องบิดามารดาเดียวกับจำเลยด้วยการกระทำของจำเลยจึงมิใช่ความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 71 วรรคสอง
ฎีกาที่ 221/2528
การที่ภริยาหรือสามีกระทำความผิดแล้วจะไม่ต้องรับโทษหรือได้รับยกเว้นโทษ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคแรกบัญญัติไว้ว่า
ต้องเป็นเรื่องกระทำต่อทรัพย์อันเป็นความผิดตามมาตรา 334 ถึง
มาตรา 336 วรรคแรก และมาตรา 341 ถึง
มาตรา 364 เท่านั้น ไม่มีข้อจำกัดว่าภริยาหรือสามีนั้น
จะต้องกระทำความผิดตามลำพังคนเดียวแต่อย่างใด
เมื่อจำเลยเป็นภริยาผู้เสียหายมีหลักฐานภาพถ่ายใบสำคัญการสมรสมาแสดง
และจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร ซึ่งจะเป็นการกระทำความผิดตามลำพังคนเดียว
หรือมีบุคคลอื่นร่วมกระทำผิดด้วย ก็ต้องถือว่ามีเหตุส่วนตัวให้จำเลยไม่ต้องรับโทษหรือได้รับยกเว้นโทษตาม
มาตรา 71 วรรคแรก แล้ว
ฎีกาที่ 956/2509
(ประชุมใหญ่)
คำว่าสืบสันดานตามพจนานุกรมหมายความว่าสืบเชื้อสายมาโดยตรง
และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586, 1587,1627 แสดงว่า
บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะแตกต่างกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม
และผู้รับบุตรบุญธรรมก็มีฐานะต่างกับบุพการีโดยตรงของบุตรบุญธรรมอยู่หลายประการ
มาตรา 1586,1627 เป็นบทบัญญัติพิเศษให้สิทธิบางประการแก่บุตรบุญธรรมในทางแพ่งเกี่ยวกับสัมพันธ์ทางครอบครัวและมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้น
ต้องใช้โดยเคร่งครัด
เฉพาะการตีความถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาก็ต้องตีความโดยเคร่งครัด
จึงหาชอบที่จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวมาใช้ตีความคำว่าผู้สืบสันดาน
ตามมาตรา 71 วรรคสอง ไม่
บุตรบุญธรรมจึงไม่ใช่ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการีตามมาตรา 71 จึงยอมความไม่ได้
0 ความคิดเห็น