ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 861 อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 6874/2562 ข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลงและหนัง รับรองประกันภัยกำหนดความคุ้มครอง คือ จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยตกลงจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนนามของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกัน กับโจทก์ผู้ให้กู้สำหรับจำนวนเงินกู้ที่ค้างชำระเกินกว่าสองงวดติดต่อกัน ตามสัญญาค้ำประกันที่ตกลงกันไว้ (รวมดอกเบี้ย) และจำเลยที่ 1 ผู้กู้พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกของผู้ให้กู้แล้ว ดังนั้น หนี้ซึ่งจำเลยที่ 2 และ ที่ 3 ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงื่อนไขที่จำเลยที่ 4 จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ในนามจำเลยที่ 2 และที่ 3 เงื่อนไขความรับผิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรม สัญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 4 ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในเหตุอย่างอื่นในอนาคตหากมีการกระทำอันเป็นการผิดสัญญาอันเป็นสัญญาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861 มิใช่ กรณีเมื่อเกิดวินาศภัยตามมาตรา 869 ขึ้นจึงมิใช่สัญญาประกันวินาศภัย

               ฎีกาที่ 4573/2561 สัญญาประกันภัยในเหตุอย่างอื่นในอนาคตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861 นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติเรื่องอายุความ ไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นับแต่เวลาจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เอาประกันอาจใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 จะนำบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีการประกันวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับมิได้

               ฎีกาที่ 6686/2559 ผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหาย โดยในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และมีข้อยกเว้นความรับผิดว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึงความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ ที่กระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหรือครอบครองตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ เท่านั้น เนื่องจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยง่ายจึงมีความเสี่ยงสูง กรมธรรม์จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูก ว. ยักยอกไป ซึ่ง ว. เป็นผู้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปขาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย