ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา 188 ในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้ข้อบังคับต่อไปนี้

               (1) ให้เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาล

               (2) ศาลอาจเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นจำเป็น และวินิจฉัยชี้ขาดตามที่เห็นสมควรและยุติธรรม

               (3) ทางแก้แห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้ใช้ได้แต่โดยวิธียื่นอุทธรณ์หรือฎีกาเท่านั้น และให้อุทธรณ์ฎีกาได้แต่เฉพาะในสองกรณีต่อไปนี้

                              (ก) ถ้าศาลได้ยกคำร้องขอของคู่ความฝ่ายที่เริ่มคดีเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือ

                              (ข) ในเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาหรือพิพากษาหรือคำสั่ง

               (4) ถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความ และให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท แต่ในคดีที่ยื่นคำร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้คำอนุญาตที่ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ปฏิเสธเสียหรือให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถอนคืนคำอนุญาตอันได้ให้ไว้แก่ผู้ไร้ความสามารถนั้น ให้ถือว่าเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท แม้ถึงว่าผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ไร้ความสามารถนั้นจะได้มาศาล และแสดงข้อคัดค้านในการให้คำอนุญาตหรือถอนคืนคำอนุญาตเช่นว่านั้น

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 7092/2552  ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) ที่ว่าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าบุคคลเช่นนั้นเป็นคู่ความ มิได้หมายความว่า ถ้าใครมาคัดค้านจะเป็นคู่ความไปเสียทั้งหมด แต่คงหมายเฉพาะผู้คัดค้านที่จะคัดค้านได้เท่านั้น

               ฎีกาที่ 1727/2551 บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้นๆ ได้ แต่กรณีตามคำร้องขอของผู้ร้องซึ่งร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าบ้านที่ผู้ร้องปลูกอยู่ในที่ดินของผู้อื่นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น ไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนรับรองให้ผู้ร้องกระทำเช่นนั้นได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทต่อศาล หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่เกี่ยวกับบ้านหลังดังกล่าว ผู้ร้องก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้อย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ส่วน ป.ที่ดิน มาตรา 78 และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2497) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติถึงวิธีการจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1382 มิใช่กฎหมายใกล้เคียงที่นำมาใช้แก่กรณีของผู้ร้อง

               ฎีกาที่ 1816/2547 การที่บุคคลใดจะใช้สิทธิทางศาลโดยเสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ได้นั้น จะต้องมีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุนว่าเป็นกรณีจำเป็นต้องร้องขอต่อศาลเพื่อรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของตนที่มีอยู่ด้วย การที่ผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้แทนนิติบุคคลมีสิทธิที่จะว่าความอย่างทนายความได้ในคดีก่อนตามบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง แต่ศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้นไม่อนุญาตให้ผู้ร้องว่าความอย่างทนายความ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตเป็นอีกคดีหนึ่งเช่นนี้หาได้ไม่ เพราะกรณีของผู้ร้องไม่มีกฎหมายสารบัญญัติบทใดสนับสนุนให้ผู้ร้องมาใช้สิทธิทางศาลได้