ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 1364 การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน

               ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร้ เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากันไซร้ จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 1353/2554 ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทก่อนมีการบังคับคดี ข้อตกลงย่อมผูกพันจำเลยที่ 2 และผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิในที่ดินพิพาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้กันที่ดินพิพาทที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินทั้งแปลงออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 หมายเหตุ ถือว่าเป็นการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของรวมกันเองตามป.พ.พ.มาตรา 1364 วรรคหนึ่ง 

               ฎีกาที่ 7899/2555 โจทก์และจำเลยแถลงรับกันว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในบ้านพิพาท และตกลงกันได้แล้วว่าจะแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยให้บ้านพิพาทตกเป็นของจำเลย แล้วชำระราคาบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งตามฟ้อง คงมีปัญหาเฉพาะเรื่องราคาบ้านพิพาทซึ่งจำเลยยังไม่ยอมรับราคาตามที่โจทก์ฟ้อง กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานและพิพากษาให้นำบ้านพิพาทออกขายโดยประมูลราคากันระหว่างโจทก์และจำเลย หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้นำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการแบ่งกรณีเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไร จึงไม่ชอบ แม้จำเลยจะไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานก็ตาม แต่กรณีเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาให้ได้ความจริงตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ มิใช่ประเด็นที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและจำเลยมิได้คัดค้านไว้ จึงเห็นควรให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวใหม่

               ฎีกาที่ 10659/2551 แม้คำฟ้องโจทก์จะมิได้มีคำขอบังคับตามนัยมาตรา 1364 แต่การที่โจทก์ยื่นฟ้องมาโดยประสงค์ให้ศาลพิพากษาแบ่งที่ดินพิพาทที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์รวมกันอันมิได้แบ่งแยกส่วนเฉพาะเจาะจงเป็นประการสำคัญ ศาลย่อมมีอำนาจแบ่งให้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 1364 วรรคสอง ได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

               ฎีกาที่ 3749/2540 ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายความว่า โจทก์กับจำเลยได้อยู่กินฉันสามีภรรยากัน และระหว่างอยู่กินกันนั้นโจทก์และจำเลยได้ร่วมกันทำมาหาได้ซึ่งที่ดินและบ้านพิพาท ต่อมาโจทก์และจำเลยได้หย่ากัน โจทก์จึงขอแบ่งที่ดินและบ้านพิพาทกึ่งหนึ่ง แต่จำเลยไม่ยอมแบ่ง โจทก์จึงฟ้องต่อศาล เช่นนี้สาระสำคัญของฟ้องโจทก์ประสงค์โดยตรงและชัดแจ้งที่จะขอให้ศาลแบ่งที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ส่วนวิธีการแบ่งนั้นแล้วแต่ศาลจะกำหนดวิธีการแบ่งให้ ซึ่งศาลล่างทั้งสองก็กำหนดวิธีการแบ่งให้ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.ว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1364 ส่วนที่โจทก์กำหนดราคาที่ดินและบ้านและขอส่วนของโจทก์กึ่งหนึ่งนั้น โจทก์เพียงแต่ประมาณราคามาเพื่อความสะดวกในการคิดคำนวณส่วนได้และการเสียค่าขึ้นศาล แสดงว่าราคาที่ดินแบ่งกันจำนวนเท่าใดยังไม่ทราบ แม้หากปรากฏในชั้นบังคับคดีว่าราคาไม่ถึงจำนวนที่ประมาณไว้ก็ไม่เป็นสาระสำคัญ เพียงแต่โจทก์มีสิทธิจะได้รับกึ่งหนึ่งของราคาที่ดินและบ้านพิพาทเท่านั้น ดังนั้น การที่ศาลล่างพิพากษาให้แบ่งและกำหนดวิธีการแบ่งชอบแล้ว มิได้เป็นการพิพากษาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142

               ฎีกาที่ 6658/2539 วิธีการแบ่งทรัพย์สินในระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมนั้นกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 คือให้กระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกัน ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้าการแบ่งไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนัก ศาลจะสั่งให้ขาย โดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แบ่งทรัพย์พิพาทบางรายการกันเองระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสาม หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ให้ขายทอดตลาดชอบด้วยมาตรา 1364 แล้ว