ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย
จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี
และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
อันตรายสาหัสนั้น
คือ
(1) ตาบอด หูหนวก
ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์
หรือความสามารถสืบพันธุ์
(3) เสียแขน ขา มือ
เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
(4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(5) แท้งลูก
(6) จิตพิการอย่างติดตัว
(7) ทุพพลภาพ
หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(8) ทุพพลภาพ
หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน
หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 774/2548
การเป็นอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) นั้น
ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
แต่ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลที่ต้นขาซ้ายด้านหลังต้องรักษาที่โรงพยาบาล
11 วัน
หลังจากนั้นให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านและต้องไปทำแผลทุกวัน
ในระหว่างรักษาบาดแผลผู้เสียหายที่ 2 ยังสามารถทำงานได้ตามปกติและต้องไปล้างแผลทุกวัน
แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2 มิได้ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือประกอบกรณียกิจไม่ได้
จึงไม่เข้าลักษณะอันตรายสาหัสตาม ป.อ. 297 (8) เพียงแต่เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม
ป.อ. มาตรา 295 เท่านั้น
การที่จำเลยทำร้ายร่ายกายผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่
จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 296
ฎีกาที่ 575/2548
ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์มีความเห็นว่าบาดแผลของผู้เสียหายต้องใช้เวลารักษาเกินกว่า
21 วัน แต่ผู้เสียหายเบิกความเพียงว่า
บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับจากการถูกทำร้ายต้องใช้เวลารักษา 21 วัน จึงหายเป็นปกติ โดยมิได้เบิกความให้เห็นว่าผู้เสียหายต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า
20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20
วัน อย่างไร
ลำพังกระดูกโหนกแก้มขวาหักจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายสาหัส
ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายที่ต้องใช้เวลารักษาเกิน 21 วัน
เป็นเรื่องการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติเท่านั้น
ย่อมรับฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายจนต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา
หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน
อันจะถือว่าเป็นอันตรายสาหัส ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 297 (8) คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย
ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 295 แม้ปัญหาข้อนี้จะยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์
และฎีกาของจำเลยข้อนี้ต้องห้ามตามกฎหมายเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์
แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185
ประกอบมาตรา 215 และ 225
0 ความคิดเห็น