ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

               ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 15123/2555 บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า มีข้อความระบุว่า ล. และ ก. ตกลงยกบ้านเลขที่ 2/12 ซึ่งเป็นทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว 2 ห้องนอน ให้แก่บุตรทั้งสองคนคือ โจทก์และ ก. ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้เยาว์ บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าดังกล่าว นอกจากมี ล. และ ก. เป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้ว ยังมีบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาระหว่าง ล. และ ก. คือ แทนที่ ล. และ ก. จะแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาด้วยกันเอง กลับยอมให้บ้านเลขที่ 2/12 ตกเป็นของบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง หลังจาก ล. และ ก. จดทะเบียนหย่ากัน สัญญาจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 มิใช่สัญญาให้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 525 แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ย่อมผูกพัน ล. ให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง ล. ไม่มีสิทธิจะนำทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นโดยปราศจากความยินยอมของ ก.

               ฎีกาที่ 6612/2558 สัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกจะมีหรือเกิดขึ้นในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์ตั้งแต่เวลาที่ผู้รับประโยชน์ได้แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ขอเข้าถือเอาหรือรับประโยชน์จากสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 มิใช่เพียงแต่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาแล้วจะทำให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ตามสัญญาได้ทันที และตราบใดที่ผู้รับประโยชน์ยังมิได้แสดงเจตนาเข้ารับหรือถือเอาประโยชน์จากสัญญา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยังคงผูกพันมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาตามปกติทั่วไป