ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 694 นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 743/2552 กรมสรรพากรโจทก์รู้ถึงความตายของ อ. แล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ภาษีอากร พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงความตายของ อ. สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อกองมรดกของ อ. จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวได้ตามมาตรา 694

               ฎีกาที่ 15016/2551 แม้ผู้ค้ำประกันอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 694 แต่บทกฎหมายดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงอาจทำข้อตกลงแตกต่างกับที่กฎหมายมาตรานี้บัญญัติไว้ได้ สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความเป็นข้อต่อสู้อย่างหนึ่งซึ่งลูกหนี้ยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตกลงกับโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ว่าจะไม่ยกข้อต่อสู้ในเรื่องอายุความของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ตามข้อ 4 ของสัญญาค้ำประกัน ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลบังคับระหว่างคู่สัญญาและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และคงมีผลเพียงว่าจำเลยที่ 2 ไม่อาจยกข้อต่อสู้ในเรื่องอายุความของจำเลยที่ 1 ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์เท่านั้น ส่วนอายุความตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ย่อมยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ เพราะเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 เองโดยตรง กฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความของสัญญาค้ำประกันไว้ จึงมีอายุความสิบปีอันเป็นอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยเริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12

               ฎีกาที่ 5413/2549 จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งโดยตกลงสละสิทธิของจำเลยอันมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 694 จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความเกี่ยวกับความรับผิดตามสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ตามมาตรา 563 และมาตรา 1272 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้