ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 37 ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 2516/2549 แม้จำเลยที่ 1 จะออกจากบ้านตามภูมิลำเนาโดยไม่มีผู้ใดทราบข่าวคราวก็ตาม แต่ขณะที่เจ้าพนักงานศาลนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่อยู่และตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ หรือมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนสาบสูญแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 ได้อาศัยอยู่กับจำเลยที่ 2 และยังมีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้านตามที่อยู่ในคำฟ้อง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่ง ดังนั้น ที่อยู่ตามคำฟ้องจึงเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย

               ฎีกาที่ 527/2561 แม้จำเลยที่ 2 มีบ้านพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีและได้แจ้งย้ายออกจากบ้านหลังดังกล่าวแล้วโดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งย้ายเข้าที่ใด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ธ. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ที่ทำการบริษัทดังกล่าวจึงเป็นสำนักทำการงานที่สำคัญอันเป็นถิ่นที่อยู่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหลายแห่ง โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ยังภูมิลำเนาแห่งใดก็ได้ และถึงแม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีภูมิลำเนาและมูลคดีไม่ได้เกิดในเขตอำนาจศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมรับผิดต่อโจทก์และขณะยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ยังศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5

               ฎีกาที่ 7608/2550 ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 4, 33 บัญญัติให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายออกของผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านซึ่งไปอยู่ที่อื่นเกิน 180 วัน และเจ้าบ้านไม่ทราบว่าผู้นั้นไปอยู่ที่ใด ต่อมานายทะเบียนโดยระบุว่าไม่ทราบที่อยู่ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งเพิ่มชื่อและรายการผู้นั้นในทะเบียนบ้านกลางซึ่งนายทะเบียนบ้านกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นสำหรับลงรายการบุคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่ปรากฏว่าก่อนหน้าที่จำเลยมีชื่อในทะเบียนบ้านกลางจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด พนักงานเดินหมายส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายที่บ้านเลขที่ทะเบียนบ้านกลาง 317 ซึ่งเป็นสำนักงานเขตดุสิต ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 จึงไม่ใช่การปิดคำคู่ความ ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย เป็นการส่งที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง ทำให้กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางนับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาเรื่องการส่งหมายและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยไม่ชอบเป็นกรณีมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ชอบที่จะเพิกถอนเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บงจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

               ฎีกาที่ 2983/2550 ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว การที่จำเลยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและต้องอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีนั้น เมื่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุดเพราะโจทก์อุทธรณ์ เรือนจำพิเศษมีนบุรีจึงหาใช่ภูมิลำเนาของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 47 ไม่ ทั้งการที่จำเลยต้องอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีก็มิใช่เป็นการย้ายถิ่นที่อยู่ของจำเลยด้วยเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ด้วย และกรณีของจำเลยก็ไม่ต้องด้วยการที่บุคคลใดเลือกเอาถิ่นใดโดยมีเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะให้เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเพื่อทำการใดอันจะถือว่าเรือนจำพิเศษมีนบุรีเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 อีกเช่นกัน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้จำเลยตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์นั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยอันมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 การส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยดังกล่าวจึงชอบแล้ว