ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 1410  เจ้าของที่ดินอาจก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่บุคคลอื่น โดยให้บุคคลนั้นมีสิทธิเป็นเจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเพาะปลูก บนดินหรือใต้ดินนั้น

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 113/2561  ร. ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามที่กฎหมายกำหนด หาก ร. ทำผิดเงื่อนไข รัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐ เมื่อ ร. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ร. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ร. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ร. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนรับมรดกกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ร. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ร. ตาม ป.พ.พ. มาตรา1599 และมาตรา 1600 เมื่อมีผู้บุกรุกที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้

               ฎีกาที่ 9683-9685/2558 การที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ตายให้ปลูกสร้างอาคารห้องเช่า 26 ห้อง บนที่ดินของผู้ตายเป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 อันเป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งที่ไม่อาจได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม จึงต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นสิทธิเหนือพื้นดินที่ได้มานั้นยังไม่บริบูรณ์และไม่อาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง

               ฎีกาที่ 2577/2551 จำเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมโดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ บ้านหรือโรงเรือนที่จำเลยปลูกสร้างย่อมไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินที่ โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 ประกอบมาตรา 1410 โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่จำเลยสร้างขึ้นใหม่ บ้านดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านหรือโรงเรือนบนที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมย่อมเป็นการก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย แต่สิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นเพียงบุคคลสิทธิระหว่างโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลย เมื่อสิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวไม่มีกำหนดเวลา โจทก์บอกเลิกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1413 โดยการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยตามสมควร