ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา 274 ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชำระหนี้ (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติแห่งภาคนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องใดไว้หรือได้ดำเนินการบังคับคดีโดยวิธีอื่นไว้บางส่วนแล้วภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จได้

               ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดให้ชำระหนี้เป็นงวด เป็นรายเดือน หรือเป็นรายปี หรือกำหนดให้ชำระหนี้อย่างใดในอนาคต ให้นับระยะเวลาสิบปีตามวรรคหนึ่งตั้งแต่วันที่หนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นอาจบังคับให้ชำระได้

               ถ้าสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นการให้ชำระเงิน ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง บุคคลซึ่งได้รับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นมีอำนาจบังคับคดีตามความในหมวด 2 การบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงิน หรือหมวด 3 การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง แล้วแต่กรณี โดยการร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป

 

หมายเหตุ

1.         เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา(มาตรา 274 วรรคหนึ่ง); คือ คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี, โจทก์และจำเลยอาจเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งกันและกันได้; ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จําเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมของ คู่กรณี โจทก์และจําเลยทั้งสามจึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตาม คําพิพากษาซึ่งกันและกัน(ฎีกาที่ 956/2557)

2.         บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี คือบุคคลที่จะต้องเข้ามาเป็นคู่ความหรือเป็นบุคคลภายในคดีซึ่งศาลจะต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี แต่มิใช่บุคคลตามคำนิยามคำว่า คู่ความ(มาตรา 274 วรรคหนึ่ง); สิทธิในการบังคับเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว จึงตกทอดแก่ทายาท; สิทธิในการบังคับคดีของจำเลยผู้ตายให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมเป็นสิทธิในทรัพย์สินไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว จึงตกทอดไปยังทายาทเมื่อผู้ทรงสิทธิถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นทายาทโดยธรรมของจำเลยมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของจำเลย อีกทั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเข้ารับมรดกความแทนจำเลย และดำเนินการบังคับคดีแก่โจทก์ได้ มิใช่เป็นการเข้าแทนที่คู่ความที่มรณะในระหว่างที่คดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความแทนจำเลยภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้วก็มีสิทธิที่จะยื่นได้(ฎีกาที่ 7795/2546)

3.         บุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ เป็นบุคคลภายนอกคดี(มาตรา 274 วรรคหนึ่ง); บุคคลภายนอกที่ได้รับประโยชน์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอม(เทียบฎีกาที่ 3053/2527), ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ซึ่งคดีนี้ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์รถยนต์คือผู้เสียหายทั้งสอง และพนักงานอัยการโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น โดยเป็นการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 43 และเมื่อพิจารณาประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 แล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามมาตราดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวโดยแท้ของผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม มาตรา 4, 5 และ 6 เท่านั้น ผู้เสียหายที่จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 จึงหมายถึงผู้เสียหายในคดีอาญาเท่านั้น(ฎีกาที่ 880/2555)

4.         บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี; ลูกหนี้ที่ถึงแก่ความตาย; โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทรับผิดในค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ตายเจ้ามรดกกระทำละเมิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น มิได้ฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฉะนั้น เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิบังคับคดีเฉพาะทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาท(ฎีกาที่ 2161/2558) 

5.         บุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชำระหนี้; บุคคลดังกล่าวนี้ไม่ใช่คู่ความในคดีและไม่ใช่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี และเป็นบุคคลภายนอกคดีที่ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวในคดีบริวารของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีขับไล่; เมื่อจำเลยเป็นผู้ให้เช่าสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโจทก์ แม้คำพิพากษาจะมิได้สั่งให้ผู้เช่าซึ่งเป็นบริวารจำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์ คำพิพากษาย่อมใช้บังคับขับไล่ผู้เช่าสิ่งปลูกสร้างได้ด้วย จำเลยจะอ้างเป็นเหตุไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ศาลพิพากษาให้รื้อหาได้ไม่(ฎีกาที่ 1423/2527)

6.         จะต้องร้องขอให้มีการบังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง; ผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้ร้องจึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลย และการขอเฉลี่ยทรัพย์ก็เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่งเพื่อเอาทรัพย์สินของจำเลยชำระหนี้ของผู้ร้องขอเฉลี่ย จะต้องดำเนินผู้ร้องจึงหมดสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยจากทรัพย์สินของจำเลยเช่นกัน(ฎีกาที่ 816/2543)