ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 289
ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีในกรณีดังต่อไปนี้
(1)
เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดีเพราะเหตุมีการยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่และได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา
199 เบญจ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 207
ในกรณีดังกล่าว ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องว่าตนอาจได้รับความเสียหายจากการยื่นคำขอดังกล่าวและมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี
ศาลมีอำนาจสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาวางเงินหรือหาประกันตามที่ศาลเห็นสมควรภายในระยะเวลาที่ศาลจะกำหนด
เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดีอันเกิดจากการยื่นคำขอนั้น
หรือกำหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้
ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้งดการบังคับคดี
(2) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดี และได้ส่งคำสั่งนั้นไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีไว้ภายในระยะเวลาหรือเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนด
(3) เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนตกลงงดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาที่กำหนดไว้หรือภายในเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งโดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี
(4) เมื่อเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามมาตรา 154
ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งคำบอกกล่าวงดการบังคับคดีให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียทราบโดยไม่ชักช้า
เว้นแต่จะได้งดการบังคับคดีตามคำขอของบุคคลนั้นเอง
หมายเหตุ
1.
การยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่(มาตรา
289 (1); เมื่อมีคำขอให้พิจารณาใหม่
เพราะคำขออาจเป็นความจริงมีเหตุที่ควรให้พิจารณาใหม่
แต่ศาลยังจะต้องฟังพยานของอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน
ถ้าไม่ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนได้แล้วคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อาจไม่มีผล
และเสียหายแก่ผู้ขอให้พิจารณาใหม่ได้ จึงย่อมอยู่ในอำนาจศาลที่จะสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนก็ได้(ฎีกาที่
324/2503)
2.
การขอทุเลาการบังคับคดีตามมาตรา
231 ต้องเป็นกรณีที่ยังไม่มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาไม่ว่าของศาลใด; ดูคำสั่งคำร้องที่ 331/2538,
การขอทุเลาการบังคับคดีตามมาตรา 231
ต้องเป็นกรณีที่ยังไม่มีการบังคับคดีตามคำพิพากษา
ขณะที่ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่
2 แล้ว การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องดังกล่าวเข้ามา
จึงถือได้ว่าเป็นการขอให้งดการบังคับคดี(ฎีกาที่ 10209/2553)
3.
คำสั่งงดการบังคับคดีอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้น(มาตรา
289 (1) (2)); เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 แล้ว
การที่จำเลยที่ 1
ยื่นคำร้องเข้ามาจะถือว่าเป็นการขอทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้
แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1
ขอให้งดการบังคับคดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งว่ามีเหตุสมควรให้งดการบังคับคดีไว้หรือไม่
จึงให้ส่งคืนศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาสั่งคำร้องของจำเลยที่ 1 ต่อไป(คำสั่งคำร้องที่
331/2538), ถึงแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ขอทุเลาการบังคับ
ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจดำเนินการบังคับคดีไปตามปกติ เช่น
จะสั่งงดการบังคับคดีไว้ได้(ฎีกาที่ 655/2521),
4.
การงดการบังคับคดีตามมาตรา
289 (2) ถือเป็นการของดการบังคับคดีกรณีทั่วไป; กรณีที่ผู้คัดค้านมาขอให้งดการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไว้ก่อน
ถือได้ว่าเป็นกรณีขอให้งดการบังคับคดีทั่วไป
ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งงดการบังคับคดีหรือไม่ก็ได้
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีแล้ว
ย่อมไม่อาจบังคับคดีกันอีกได้ในหนี้ทั้งหมดตามบทบัญญัติในภาค 4 ลักษณะ 2
แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว
อีกทั้งการงดการบังคับคดีในกรณีตามบทบัญญัตินี้มิได้บัญญัติหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการงดการบังคับคดีไว้
หากศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรและหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษา
ย่อมใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีได้(ฎีกาที่ 5560-5563/2562)
5.
บุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี(มาตรา
289 (3); ผู้รับจำนอง(ฎีกาที่
12619/2555)
6.
เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามมาตรา
154 คือ; เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ยอมวางเงินค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี
0 ความคิดเห็น