ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 2
บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้
และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง
การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด
และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น
ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง
หมายเหตุ
1.ต้องมีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้
1.1 ป.อ. มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาเท่านั้น
มิได้มีกฎหมายให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำขออภัยด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่
2 โฆษณาคำขออภัยโจทก์จึงเป็นการลงโทษจำเลยที่ 2 นอกเหนือจากโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
ต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง(ฎีกาที่ 2137/2557)
2. ต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วในขณะที่กระทำความผิด
หรือกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง
2.1 ที่พิพาทที่จำเลยทำนาเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่สาธารณประโยชน์
อย่างไรก็ตามแม้ที่ดินพิพาทที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่
ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยจำเลยมิได้มีสิทธิครอบครองและไม่ปรากฏว่า จำเลยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
แต่เมื่อจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2510 ถึง 15 กรกฎาคม
2545 จึงเป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 อันเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่
96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ป. ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ
ใช้บังคับ ทั้งการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2510 ตลอดมาก็เป็นการครอบครองสืบเนื่องมาจากการเข้ายึดถือครอบครองในครั้งแรก
เมื่อมาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ต้องระวาง
โทษจำคุก ฯลฯ เช่นนี้การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม
ป. ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ
2.2 กรณี
ที่มิใช่โทษทางอาญา มีผลใช้บังคับย้อนหลังได้
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
ในกรณีที่ศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามค่าร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน
โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือ
ผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับหรือไม่
เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาจึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้(ฎีกาที่ 6602/2550)
3.กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด
คำว่าสืบสันดานตามพจนานุกรมหมายความว่าสืบเชื้อสายมาโดยตรง
และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586, 1587, 1627 แสดงว่า บุตรบุญธรรม
ย่อมมีฐานะแตกต่างกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม
และผู้รับบุตรบุญธรรมก็มีฐานะต่างกับบุพการีโดยตรงของบุตรบุญธรรมอยู่หลายประการ
มาตรา 1586, 1627 เป็นบทบัญญัติพิเศษให้สิทธิบางประการแก่บุตรบุญธรรมในทางแพ่งเกี่ยวกับสัมพันธ์ทางครอบครัวและมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้น
ต้องใช้โดยเคร่งครัด เฉพาะการตีความถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาก็ต้องตีความโดยเคร่งครัด
จึงหาชอบที่จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวมาใช้ตีความคำว่า
ผู้สืบ สันดาน ตามมาตรา 71 วรรค 2 ไม่ บุตรบุญธรรมจึงไม่ใช่ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการีตามมาตรา
71 จึงยอมความไม่ได้(ฎีกาที่ 956/2509(ประชุมใหญ่))
4.กฎหมายใหม่ยกเลิกความผิด (มาตรา 2 วรรคสอง)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซึ่งลงข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยการโฆษณาตาม
ป.อ. มาตรา 326, 328 พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ มาตรา 48 แต่ในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี
พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ
ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป และ
พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ
ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม
ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง(ฎีกาที่ 6268/2550)
4.1 ตาม ป.อ.
มาตรา 2 วรรคสอง บทบัญญัติดังกล่าวได้แยกผลของการกระทำความผิดและการบังคับโทษตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วจากกันต่างหาก
กล่าวคือ ในส่วนของการบังคับตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้นหากมีส่วนใดที่ยังค้างอยู่ระหว่างการบังคับ
ก็ให้การบังคับนั้นสิ้นสุดลง ไม่มีการบังคับในส่วนที่ค้างอยู่อีกต่อไปเท่านั้น
หาได้มีผลให้รื้อฟื้นการบังคับโทษที่เสร็จสิ้นไปแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกแต่อย่างใด
โทษที่ได้รับมาแล้วต้องถือว่ายุติไปตามผลของคำพิพากษา ดังนั้นค่าปรับที่จำเลยชำระไปตามคำพิพากษาจนครบ
ถ้วนแล้วจึงถือว่าการบังคับโทษปรับเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงไม่อาจถอนคืนได้(ฎีกาที่ 8222/2554)
4.2 การยกเลิกกฎกระทรวง
แม้ซองกระสุนปืนพกกึ่งอัตโนมัติของกลางเป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า
10 นัด อันเป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง
ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด
ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 2 (12) ซึ่งเป็น
ความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน
เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55,
78 ตามฟ้องโจทก์ แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2552) ออกตามความใน
พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน
พ.ศ.2490 กำหนดให้ซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 20 นัด
เป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้
จึงถือได้ว่าบทบัญญัติของกฎกระทรวงดังกล่าวที่บัญญัติไว้ภายหลังการกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีซองกระสุนปืนชนิดบรรจุกระสุนปืนได้
15 นัด ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตาม
พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน
พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง(ฎีกาที่ 1224/2554)
4.3 กรณี
คำสั่งจังหวัด
เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แต่ต่อมามีคำสั่งจังหวัดสุรินทร์ให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่ทางหลวงบางส่วนซึ่ง รวมทั้งที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอีกต่อไป นับแต่วันที่คำสั่งจังหวัดสุรินทร์มีผลใช้บังคับ แต่ที่ดินพิพาทยังคงมีสภาพเป็นที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินอยู่ต่อไป หาได้เปลี่ยนแปลงตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ และคำสั่งจังหวัดสุรินทร์ดังกล่าวมิใช่บทบัญญัติของกฎหมาย กรณีจึงหาใช่มีกฎหมายออกใช้ภายหลังยกเลิกความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคหนึ่ง(ฎีกาที่ 10325/2550)
0 ความคิดเห็น