ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 33 ในการริบทรัพย์สิน
นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว
ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย
คือ
(1) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้
หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ
(2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด
เว้นแต่ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
หมายเหตุ
1.
การที่จะริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 จะต้องมีการฟ้องและพิสูจน์ความผิดของจำเลยก่อน
จึงจะริบได้
1.1 การริบทรัพย์สินเป็นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 18 (5) จึงต้องมีการฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าวและพิสูจน์ความผิดของจำเลยต่อศาลเสียก่อน เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยถึงการกระทำดังกล่าวในครั้งก่อนโดยตรง
เพียงแต่กล่าวพาดพิงว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้นจึงยังไม่เป็นการเพียงพอ
ศาลไม่อาจริบได้(ฎีกาที่ 1768/2543)
2. ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้
หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะสั่งให้ริบหรือไม่ริบก็ได้(ฎีกาที่
6566/2562)
3. การกระทำของจำเลยต้องเป็นความผิดและจำเลยต้องรับโทษ
ทรัพย์ของกลางที่ใช้กระทำความผิด ศาลจึงจะสั่งริบได้
แต่หากการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้กระทำความผิด
จึงไม่อาจริบได้(ฎีกาที่ 7004/2561)
4.ทรัพย์สินตามมาตรา
33 จะต้องไม่ใช่ทรัพย์ที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 32(ฎีกาที่
6733/2560) เช่น
4.1 อาวุธปืนมีทะเบียน
จำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ความผิดจึงอยู่ที่การไม่ได้รับใบอนุญาต หาทำให้อาวุธปืนและซองกระสุนปืนที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนผิดกฎหมายไปไม่ อาวุธปืนดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดอันจะพึ่งต้องริบ และไม่ใช่ ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 ไม่อาจริบตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ ชอบที่จะต้องส่งคืนแก่เจ้าของ (ฎีกาที่ 8474/2557)
0 ความคิดเห็น