ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

 

หมายเหตุ

               1. มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หมายถึง การทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้โดยชัดเจน โดยกฎหมายที่บัญญัติห้ามอาจะเป็นกฎหมายแพ่ง หรือ กฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นๆ โดยกฎหมายต้องบัญญัติห้ามไว้โดยชัดเจน และมีอยู่ขณะทำนิติกรรม และกฎหมายที่ห้ามนี้ต้องเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยเสมอ

               ฎีกาที่ 707/2487 กู้เงินไปเพื่อค้าฝิ่นเถื่อนย่อมเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดตามกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ

               2.วัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย หมายถึง วัตถุประสงค์เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ และมีอยู่อยู่ขณะทำนิติกรรม  

               3.วัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นคำแบบกว้าง ๆ ซึ่งท่านศาสตราจารย์ ดร.จี๊ด เศรษฐบุตร กล่าวว่า ความสงบเรียบร้อยของประชาชน คือ ข้อห้ามที่สังคมบังคับแก่เอกชนเพื่อสังคมจะได้ดำรงอยู่ได้เพื่อคุ้มครองปกป้องรักษาเอกชนซึ่งอยู่ในสังคมนั้นเอง

               หลักเกณฑ์ในการพิจารณา ได้แก่

               ก.ความสงบเรียบร้อยทางการเมือง การปกครอง

               ข. ความสงบเรียบร้อยทางครอบครัว

               ค.ความสงบเรียบร้อยทางวิชาชีพสำหรับวิชาชีพบางประเภท

               ง.ความสงบเรียบร้อยทางเศรษฐกิจ

               โดยปกติแล้วหากการกระทำใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชสาชนย่อมจะมีลักษณะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนด้วย

               4.วัตถุประสงค์ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หมายถึง นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดกับหลักทางจริยธรรม เป็นหลักที่บุคคลต้องมีความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา และสุจริต ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นและยุคสมัย