ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 1312 บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิ เป็นภาระจำยอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

               ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้

 

หมายเหตุ

               1.โรงเรือนที่รุกล้ำต้องเป็นส่วนน้อย จึงจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1312

               ฎีกาที่ 3680/2528 บุคคลที่สร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยสุจริตที่จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312  จะต้องเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นและส่วนที่รุกล้ำนั้นจะต้องเป็นส่วนน้อย ส่วนที่อยู่ในที่ดินที่ตนมีสิทธิสร้างต้องเป็นส่วนใหญ่ มิฉะนั้นจะเรียกว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำไม่ได้ ตามฟ้องอ้างว่าโจทก์ปลูกสร้างโรงเรือนของผู้อื่นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 1 และบรรยายฟ้องต่อไปว่าโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำนั้นเนื้อที่ประมาณ 12 ตารางวา ประมาณครึ่งหนึ่งของโรงเรือน แสดงว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของโรงเรือนที่สร้างรุกล้ำ ทั้งส่วนที่รุกล้ำนั้นมิใช่ส่วนน้อยอันจะเรียกว่ารุกล้ำตามมาตรา 1312 ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1312

               2. ความหมายของ “โรงเรือน”  หมายถึง การสร้างบ้านสำหรับอยู่อาศัย(ฎีกาที่ 951-952/2542) และ อาจเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของโรงเรือน เช่น

               ฎีกาที่ 741/2505 ปลูกสร้างเรือนในที่ดินของตน ตัวเรือนไม่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น แต่ชายคาได้รุกล้ำเข้าไปโดยสุจริตนั้นย่อมเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น

               ฎีกาที่ 634/2515 ครัวเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโรงเรือน

               ฎีกาที่ 904/2517, 4799/2552 กันสาด

               แต่ถ้าเป็นการต่อเติมในภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนเสร็จแล้ว ต่อมามีการต่อเติมโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ย่อมมิใช่เป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำตามมาตรา 1312 และจะนำมาตรา 1312 มาบังคับใช้ตามมาตรา 4 ในฐานะเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมิได้(ฎีกาที่ 3666-3670/2533)

               3. สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น 

               ถ้าเป็นการปลูกสร้างอย่างอื่นที่มิใช่โรงเรือนหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของโรงเรือน แม้จะเป็นการกระทำโดยสุจริตก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง(ฎีกาที่ 951-952/2542) เช่น ฎีกาที่ 951-952/2542 โรงรถ ท่อน้ำประปา ปั๊มน้ำ และแท็งก์น้ำ,      ฎีกาที่ 2316/2522 ถังส้วม, ฎีกาที่ 1511/2542 รั้วบ้าน,                4.ผู้สืบสิทธิ ย่อมได้รับความคุ้มครอง

               ฎีกาที่ 3713/2534 จำเลยทั้งสามซื้อตึกแถว พร้อมระเบียงพิพาทที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าระเบียงได้สร้างรุกล้ำโดยไม่สุจริต ต้องถือว่าจำเลย เป็นผู้สืบสิทธิของผู้สร้างระเบียงพิพาทรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต โจทก์จึงมีสิทธิเพียงแต่จะได้ค่าใช้ที่ดินและยังมีหน้าที่จดทะเบียนภาระจำยอมให้จำเลยทั้งสามด้วย ทั้งนี้ โดยนัย ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคแรก แต่โจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินเป็นค่าใช้ที่ดินของโจทก์ ศาลจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยใช้เงินดังกล่าวได้

               ฎีกาที่ 5909/2540 จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ปลูกสร้างบ้านรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต จำเลยผู้สืบสิทธิของเจ้าของเดิมผู้ปลูกสร้างบ้านโดยไม่สุจริตย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 เช่นกัน

               ฎีกาที่ 741/2505(ประชุมใหญ่) มาตรา 1312 เป็นบทบัญญัติพิเศษบังคับแก่เจ้าของที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของขณะมีการปลูกสร้างหรือเป็นผู้รับโอนในเวลาต่อมา เจ้าของโรงเรือนมีสิทธิขอให้จดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมได้โดยไม่ต้องรอจนเกิน 10 ปี

               5.กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

               5.1 กรณีแบ่งแยกที่ดิน (ฎีกาที่ 3420-3421/2535, 4799/2552, 778/2523, 6593/2550, 1848/2512(ประชุมใหญ่)

               ฎีกาที่ 6593/2550 จำเลยปลูกสร้างบ้านในที่ดินของ ล. เจ้าของที่ดินโดยสุจริต บ้านดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย หลังจาก ล. ถึงแก่ความตายมีการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวปรากฏว่า บ้านของจำเลยอยู่ในที่ดินที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่โครงหลังคาบ้านซึ่งติดอยู่กับบ้านเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเข้าไปในที่ดินส่วนที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ อันเป็นกรณีที่เทียบเคียงได้กับการปลูกโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตามบทกฎหมายดังกล่าว ถือได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคแรก เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียง อย่างยิ่ง เมื่อกรณีดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีและไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง เมื่อใช้มาตรา 1312 วรรคแรก ประกอบมาตรา 4 วรรคสอง มาปรับแก่คดีแล้ว ที่ดินของโจทก์ส่วนที่โครงหลังคาบ้านของจำเลยรุกล้ำเข้าไปจึงเป็นภาระจำยอมที่ต้องไปจดทะเบียนสิทธิดังกล่าวตามบทบังคับของมาตรา 1312 วรรคแรก

               5.2 กรณีปลูกสร้างโรงเรือนคร่อมบนที่ดินสองแปลงติดกัน

               การปลูกสร้างโรงเรือนคร่อมบนที่ดินสองแปลงซึ่งอยู่ติดกัน โดยผู้ปลูกสร้างเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง ต่อมาที่ดินอีกแปลงหนึ่งโอนเป็นของผู้อื่น กรณีจึงมิใช่การปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริต ตามมาตรา 1312(ฎีกาที่ 796/2552, 9785/2553)

               5.3 กรณีเจ้าของรวม

               ฎีกาที่ 545/2530(ประชุมใหญ่) การที่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งปลูกบ้านในที่ดินมรดกในฐานะเป็นเจ้าของรวมก่อนที่จะมีการแบ่งแยกนั้น เป็นการปลูกสร้างโดยสุจริตและมีสิทธิปลูกได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เหตุที่บ้านของจำเลยบางส่วนรุกล้ำที่ดินของโจทก์ 5 ตารางวาเนื่องจากการแบ่งแยกโฉนด ระหว่างทายาทในภายหลัง กรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายมาตราใดบัญญัติไว้โดยตรง จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะปรับแก่คดีนี้คือ มาตรา 1312 วรรคแรกซึ่งให้เจ้าของที่ดินได้ค่าใช้ที่ดินส่วนที่รุกล้ำโจทก์จะขอให้จำเลยรื้อบ้านส่วนรุกล้ำที่ดิน ของโจทก์ออกไปไม่ได้

               5.4 กรณีมีข้อตกลงรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำ

               ฎีกาที่ 9764/2552 ในการซื้อที่ดินจากธนาคารมีข้อตกลงระหว่างกันว่า ผู้เช่าจะซื้อที่ดินส่วนที่มีห้องแถวที่ตนเช่าปลูกสร้างอยู่และที่ดินแต่ละแปลงให้แนวตัดตรงตามแนวโฉนดที่ดิน ถ้าห้องเช่าหรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวที่ดินของผู้เช่าอื่นก็ต้องรื้อส่วนที่รุกล้ำเมื่อผู้เช่าอื่นปลูกสร้างใหม่ ถ้ายังไม่มีการปลูกสร้างอาคารใหม่ก็ให้อยู่กันตามสภาพเดิมไปก่อน ข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับได้และมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย เมื่อโจทก์จะปลูกสร้างอาคารใหม่แทนห้องเช่าเดิมบนที่ดินที่ซื้อแต่มีสิ่งปลูกสร้างของจำเลยรุกล้ำเข้าไปที่ดินของโจทก์ โจทก์บอกกล่าวจำเลยแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงรื้อสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ หาใช่กรณีที่ต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 1312 มาปรับใช้ ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4