ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 343
ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา
341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน
หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี
หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก
ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี
และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
หมายเหตุ
1.ประชาชน
ฎีกาที่ 15505/2553
ป.อ. มาตรา 343 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริง
ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน “คำว่า “ประชาชน” หมายถึงบุคคลทั่วไปไม่จำกัดตัวว่าเป็นผู้ใด
2.แสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน
ฎีกาที่ 831/2559
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม
ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง
อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ
ฎีกาที่ 6645-6646/2548
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อย
แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญโดยจะพิจารณาจากวิธีการในการหลอกลวง
จำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมาประกอบด้วยเท่านั้น
ลักษณะการชักชวนเป็นการชักชวนทั่วไป มิได้มุ่งเจาะจงชักชวนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ แม้จะมิได้มีการป่าวประกาศ
หรือแจ้งให้ผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนต่อ
แต่ลักษณะการชักชวนอย่างเดียวกันโดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม
ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แล้ว
ฎีกาที่ 5292/2540 การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญและไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการดังกล่าวด้วยตนเองมาตั้งแต่ต้นทุกครั้งเพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกต่อกันไปเป็นทอด
ๆ เมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจาเลยจำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้นและให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้ง
อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวก แม้จะไม่มีการประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม
การกระทำของจำเลยก็เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 แล้ว
ฎีกาที่ 135/2547
จำเลยลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นความเท็จโดยทุจริต
เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ได้อ่านข่าวหลงเชื่อจึงไปติดต่อและมอบเงินให้จำเลย จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
3.ความผิดสำเร็จ
ฎีกาที่ 870/2549
เพียงแต่จำเลยที่ 1 แสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน
แต่เป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยที่
1 กู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง
0 ความคิดเห็น