ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา 42 ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะ หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้ จะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะโดยมีคำขอเข้ามาเอง หรือ โดยที่ศาลหมายเรียกให้เข้ามา เนื่องจากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียว คำขอเช่นว่านี้จะต้องยื่นภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะ

               ถ้าไม่มีคำขอของบุคคลดังกล่าวมาแล้ว หรือไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเรื่องนั้นเสียจากสารบบความ

 

หมายเหตุ

               1. คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี

               ฎีกาที่ 1890/2536 ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาเป็นการพิจารณาโดยการขาดนัด หากจำเลยไม่มรณะก็ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดตามมาตรา 147 การขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะตาม มาตรา 42 และ 43 นั้น แม้ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาก็ขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะได้ ส่วนที่มาตรา 42 บัญญัติว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาคดีอยู่ในศาลได้มรณะ เสียก่อนศาลพิพากษาคดีให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะจะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะนั้น เป็นกรณีที่ศาลให้เลื่อนการนั่งพิจารณาไปถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี หากคู่ความมรณะภายหลังศาลพิพากษาคดีแล้วก็ไม่มีกรณีที่จะต้องเลื่อนการนั่งพิจารณา ในระหว่างนี้หากคดียังไม่ถึงที่สุด ทายาทของผู้มรณะก็ยังคงมีสิทธิขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะได้ มิใช่ว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้วสิทธิขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะสิ้นไปด้วย

               ฎีกาที่ 1575/2538 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะในขณะที่คดียังไม่พ้นเวลาที่โจทก์จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งพิพากษายกฟ้องโจทก์ ประกอบกับคดียังสามารถฎีกาต่อไปได้ คดีจึงยังไม่เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ถือได้ว่าคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลฎีกา ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะได้ตามมาตรา 42 วรรคแรก

 

                2. ทายาทของผู้มรณะ หมายถึงทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้มรณะ

               คำสั่งคำร้องที่ 661/2514 บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา ซึ่งบิดาได้แจ้งการเกิดว่าเป็นบุตร ได้ให้ความอุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษาและให้ใช้นามสกุลทั้งแสดงโดยเปิดเผยดังเช่นบิดากับบุตร ถือได้ว่าบิดาได้รับรองว่าเป็นบุตรแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานและมีสิทธิรับมรดกความของบิดาได้