ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 193 ทวิ ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี
หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
(1) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก
(2) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้
(3) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือ
(4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท
หมายเหตุ
คู่ความที่ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ได้แก่ โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย
ปัญหาข้อเท็จจริง
คือปัญหาที่ศาลต้องวินิจฉัยโดยอาศัยพยานหลักฐานต่างๆ
อัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี
หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท เช่น ปลอมเอกสาร ป.อ.มาตรา 264, ทำร้ายร่างกาย
ป.อ.มาตรา 295, ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ป.อ.มาตรา 300, ลักทรัพย์
ป.อ.มาตรา 334 เป็นต้น
ฎีกาที่ 8481/2554 คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น
ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ
เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้าม
ก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับปัญหาข้อเท็จจริง
ฎีกาที่ 417/2561 จำเลยอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น
จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ
ฎีกาที่ 15718/2557 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม
ป.อ. มาตรา 352 และมาตรา 358 ซึ่งความผิดทั้งสองฐานมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ
การที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
0 ความคิดเห็น