ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 289 ผู้ใด
(1) ฆ่าบุพการี
(2) ฆ่าเจ้าพนักงาน
ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่
(3)
ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว
(4)
ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
(5)
ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
(6)
ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น
หรือ
(7) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา
หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น
เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน
หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้
ต้องระวางโทษประหารชีวิต
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 113/2534
จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(1) ประกอบกับมาตรา 80 ซึ่งมาตรา 289
บัญญัติโทษไว้สถานเดียวคือประหารชีวิตเมื่อลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 52(1)แล้ว จึงต้องวางโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต
จำเลยให้การรับสารภาพศาลลดโทษให้อีกกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
โดยเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 53
คงจำคุกจำเลย 25 ปี เป็นการถูกต้องแล้วและเป็นการลงโทษต่ำสุดเท่าที่กฎหมายกำหนด
ไม่อาจลดโทษลงได้อีก
(2)
ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ
หรือได้กระทำการตามหน้าที่
ฎีกาที่ 9693/2554
เมื่อสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้แล้ว ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปจับกุมจำเลยทั้งสาม
โดยใช้รถยนต์ 2 คัน คันหนึ่งขับไปขวางหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เป็นคนขับ
และรถยนต์อีกคันหนึ่งที่มีผู้เสียหายนั่งมาด้วยขับไปขวางทางด้านหลัง
ผู้เสียหายลงจากรถยนต์มายืนด้านหลังรถยนต์ของจำเลยที่ 1
พร้อมพูดแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุมด้วยเสียงดัง จำเลยที่ 1
ขับรถยนต์ถอยหลังพุ่งตรงไปทางผู้เสียหาย ผู้เสียหายกระโดดหลบ รถยนต์ที่จำเลยที่ 1
ขับชนทางด้านหน้าของรถยนต์ พันตำรวจโท ฉ.
ที่ขวางอยู่ด้านหลังได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก การที่จำเลยที่ 1
ขับรถยนต์ถอยหลังดังกล่าวย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าหากผู้เสียหายไม่กระโดดหลบรถยนต์ที่จำเลยที่
1 ขับอาจชนผู้เสียหายซึ่งยืนอยู่ทางด้านหลังในระยะห่างเพียง 5 เมตร
ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 1
จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่ตาม ป.อ.
มาตรา 289 (2)
(3)
ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่
หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว
ฎีกาที่ 2228/2515
ตำรวจขอแรง บ. ราษฎรเจ้าของเรือยนต์ให้ขับเรือติดตามจำเลยซึ่งเป็นคนร้ายไปเมื่อตามไปทัน
จำเลยวิ่งหนีขึ้นตลิ่ง ตำรวจกับ บ.ก็ขึ้นตลิ่งแยกกันวิ่งไล่ตามจำเลย จำเลยยิง บ.
ได้รับอันตรายแก่กายการกระทำของจำเลยเป็นการพยายามฆ่า บ.
ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(3), 80
แต่ไม่ใช่การใช้กำลังประทุษร้ายในการต่อสู้หรือขัดขวางผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายฯ
อันเป็นความผิดตามมาตรา 138 ด้วย
(4)
ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ฎีกาที่ 14450/2555
การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ผู้กระทำความผิดต้องได้มีเวลาคิดไตร่ตรองและทบทวนแล้วจึงตกลงใจที่จะฆ่าผู้อื่น
หาใช่กรณีที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนไม่
การที่ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน
ไม่ใช่เหตุผลที่บ่งชี้แน่นอนว่ามีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเสมอไป
ต้องขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งคดี
(5)
ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
ฎีกาที่ 1817/2546 จำเลยจับผู้ตายลากเข้าไปในบ้านเกิดเหตุแล้วปิดประตูหน้าต่างทั้งหมดเจ้าพนักงานตำรวจมาถึงไม่สามารถเข้าไปได้ คงได้ยินเสียงผู้ตายร้องให้ช่วยเหลือสลับกับเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดจึงพังประตูบ้านเข้าไป พบผู้ตายถูกจำเลยใช้อาวุธมีดเชือดคอยาวประมาณ 30 เซนติเมตรลึกถึงกระดูกต้นคอที่ศรีษะมีบาดแผลฉีกขาดยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ลึกถึงกะโหลก กับมีบาดแผลบริเวณหน้าผากยาวประมาณ 4 เซนติเมตร แสดงว่าจำเลยต้องใช้เวลานานกว่าจะเชือดคอผู้ตายจนมีบาดแผลยาวรอบคอ ทำให้ผู้ตายส่งเสียงร้องเพราะได้รับความเจ็บปวดทรมาน เห็นได้ชัดว่าจำเลยใช้วิธีการโหดร้ายในการฆ่าผู้ตาย จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5)
0 ความคิดเห็น