ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

                    มาตรา 323 ภายใต้บังคับมาตรา 55 บุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ หรือตนเป็นเจ้าของรวมซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้แบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัด หรือตนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์แบ่งได้ หรือตนเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์สินนั้นได้อยู่ก่อน บุคคลนั้นอาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนหรือเฉพาะส่วนของตน แล้วแต่กรณี โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น

                    ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินตามมาตรา 332 ผู้กล่าวอ้างอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจ่ายเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 339 หรือก่อนที่บัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่ขายทรัพย์สินนั้นเป็นที่สุดตามมาตรา 340 แล้วแต่กรณี  ทั้งนี้ ให้ถือว่าเงินจำนวนสุทธิที่ได้จากการขายนั้นเป็นเสมือนทรัพย์สินที่ขอให้ปล่อย

                    เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอไว้แล้ว ให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา และเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำร้องขอเช่นว่านี้ถ้าทรัพย์สินที่ยึดนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินตามมาตรา 332 ให้งดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไว้ในระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาด และให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา

                    โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี เมื่อปรากฏพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กล่าวอ้างวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับจากการยื่นคำร้องขอนั้น ถ้าผู้กล่าวอ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ส่วนเงินหรือประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อไป จะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้คำสั่งของศาลตามวรรคนี้ให้เป็นที่สุด

                    ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอดังกล่าวเห็นว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้กล่าวอ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้กล่าวอ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา

 

หมายเหตุ

                    ฎีกาที่ 612/2564  คำร้องของผู้ร้องทั้งสองบรรยายว่า ผู้ร้องทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลในคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 ตกลงโอนที่ดินพิพาทบางส่วนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งได้มีการแบ่งการ ครอบครองกันเป็นส่วนสัด เป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างว่าที่ดิน พิพาทบางส่วนเป็นของตน ขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 แต่ตาม สัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่าจำเลยที่ 1 ตกลงโอนที่ดินพิพาท บางส่วนให้แก่ ล. และผู้ร้องที่ 2 หาได้ระบุว่าจำเลยที่ 1 ตกลงโอน ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ด้วยไม่ โดยผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจของ ล. ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว แม้ต่อมา ล. ถึงแก่ความตายก็ไม่ทำให้ผู้ร้องที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องในฐานะส่วนตัว ผู้ร้องที่ 1 ไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง

                    ศาลในคดีแพ่งพิพากษาตามยอม โดยจำเลยที่ 1 ตกลงโอนที่ดินพิพาทบางส่วนให้แก่ผู้ร้องที่ 2 ผู้ร้องที่ 2 จึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ชอบที่จะขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตน ภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323

                    เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 และประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทนัดที่ 1 ในวันที่ 25 กันยายน 2561 และมีการงดการบังคับคดีไว้ ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อย ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนวันที่ 25 ตุลาคม 2561 พ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น และช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่ เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรกแล้วการที่ผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนได้ ผู้ร้องที่ 2 จะต้องอ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้อง ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอได้ทันภายในกำหนด แต่คำร้องผู้ร้องที่ 2 อ้างเพียงว่า ที่ดินพิพาทบางส่วนเป็นของผู้ร้องที่ 2 ตามคำพิพากษา ตามยอมคดีแพ่ง โดยไม่ได้อ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องได้ภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 ผู้ร้องที่ 2 ไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง