ประมวลกฎหมายยาเสพติด

               มาตรา 90 ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือ มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เว้นแต่เป็นกรณี ที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 34 หรือมาตรา 35 (3)

               มาตรา 145 ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 90  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านห้าแสนบาท

               ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำ ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท

               (1) การกระทำเพื่อการค้า

               (2) การก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน

               (3) การจำหน่ายแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี

               (4) การจำหน่ายในบริเวณสถานศึกษา สถานอันเป็นที่ เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด หรือสถานที่ราชการ

               (5) การกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย

               (6) การกระทำโดยมีอาวุธหรือใช้อาวุธ

               ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเป็นการกระทำดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต

               (1) การกระทำโดยหัวหน้า ผู้มีหน้าที่สั่งการ หรือผู้มีหน้าที่ จัดการในเครือข่ายอาชญากรรม

               (2) การทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือ ความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 272/2565 (ประชุมใหญ่) เมื่อตามกฎหมายเดิม มาตรา 15 ประกอบมาตรา 66 บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาเพียงปริมาณของยาเสพติดเป็นสำคัญ แต่กฎหมายใหม่ มาตรา 145 บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ในการกระทำผิดเป็นสำคัญ ไม่ได้ถือเอาเพียงปริมาณดังเช่นกฎหมายเดิมอีกต่อไป แม้ปริมาณที่มากขึ้นอาจบ่งชี้ถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ได้ระดับหนึ่งก็ตาม เมื่อปริมาณยาเสพติดที่มากขึ้นอาจบ่งชี้ได้ถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่อยู่ในตัวกฎหมายใหม่จึงไม่ได้ยกเลิกความผิดตามมาตรา 66 วรรคสอง และวรรคสาม ไปเสียทีเดียว แต่เมื่อกฎหมายใหม่ไม่ได้ให้ศาลลงโทษหนักขึ้นเพียงเพราะปริมาณยาเสพติดให้โทษดังเช่นในกฎหมายเดิม แต่ต้องมีพฤติการณ์และบทบาทหน้าที่ตามที่กฎหมายใหม่กำหนดไว้ด้วย จึงจะมีความผิดตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสามได้ ดังนั้น ถ้าผู้กระทำผิดมีพฤติการณ์หรือบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสองหรือ วรรคสาม ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดตามมาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ได้ แต่ถ้ายาเสพติดให้โทษมีปริมาณถึงตามกฎหมายเดิม มาตรา 66 วรรคสองหรือวรรคสาม แต่ผู้กระทำผิดไม่มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ศาลย่อมไม่อาจปรับบทความผิดตามมาตรา 145 วรรคสอง หรือวรรคสามได้ คงปรับบทความผิดได้เพียงตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง ส่วนการกำหนดโทษก็ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณทั้งกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่ไม่ว่าในทางใด ทั้งนี้ ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 3 คดีนี้ผู้ต้องหาในคดียาเสพติดคดีอื่นแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจว่า ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 1 จึงมีการล่อซื้อและจับจำเลยทั้งสองได้ในรถกระบะพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง 1,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 22.927 กรัม ที่จำเลยทั้งสองมาส่งตามที่มีการล่อซื้อในราคา 60,000 บาท พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ผู้ต้องหาดังกล่าว และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ล่อซื้อ จึงย่อมทำให้เกิดการแพร่กระจายแก่ผู้เสพหลายคนโดยสภาพ ถือเป็นการกระทำให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนแล้ว กรณีจึงต้องลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายใหม่ มาตรา 90, 145 วรรคสอง (2) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 20 ปี อันเป็นบทกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมากกว่าตามกฎหมายเดิม ตามมาตรา 66 วรรคสาม ที่มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต สำหรับโทษปรับก็ต้องลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสอง (2) ซึ่งมีระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท อันเป็นคุณกว่าตามกฎหมายเดิม มาตรา 66 วรรคสาม ที่มีระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยทั้งสอง คนละ 15 ปี และปรับคนละ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ลดโทษให้ 1 ใน 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน และปรับ 500,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 11 ปี 3 เดือน และปรับ 750,000 บาท

 

อ้างอิง ข่าวศาลฎีกาฉบับที่ 4/2565

              ฎีกาที่ 502/2565 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ไม่มีบทลงโทษหนักขึ้นตามจำนวนหน่วยการใช้ ปริมาณสารบริสุทธิ์หรือน้ำหนักสุทธิดังเช่นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายเดิมมาตรา 15 ประกอบมาตรา 66 วรรคสองและวรรคสาม แต่กฎหมายใหม่มาตรา 145 วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยพิจารณาจากพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ของผู้กระทำผิด แม้ปริมาณอาจบ่งชี้ถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ได้ในบางคดีก็ตาม กฎหมายใหม่มาตรา 145 วรรคสองและวรรคสาม จึงไม่ได้ยกเลิกความผิดตามกฎหมายเดิมไปเสียทีเดียว แต่การลงโทษให้หนักขึ้นตามกฎหมายใหม่ก็จำต้องปรากฏพยานหลักฐานที่มั่นคงพอฟังได้ว่า จำเลยมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ดัง บัญญัติไว้ในกฎหมายใหม่มาตรา 145 วรรคสองและวรรคสาม

               จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 5 เม็ด แต่ในส่วนที่จำเลยที่ 1 สนับสนุน อ. มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเมท แอมเฟตามีน 68 เม็ด ไม่ปรากฏชัดว่า อ. มีไว้เพื่อจำหน่ายในราคา ใดจำหน่ายแก่ใครบ้างนอกจากจำเลยในคดีนี้ และจำหน่ายมาแล้วบ่อยครั้งเพียงใด คดีไม่อาจฟังว่าเป็นการกระทำเพื่อการค้าตาม ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) และไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีน 63 เม็ด ที่ อ. มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นการทำให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนได้อย่างไร ยังฟังไม่ได้อีกว่าทำให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนตามมาตรา 145 วรรคสอง (2) คดีคงฟังได้ว่าการกระทำของ อ. เป็นความผิด ตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง การสนับสนุนของจำเลยที่ 1 ต่อ อ. ที่ ให้ใช้บ้านจึงเป็นเพียงการสนับสนุนตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง