ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1338 ข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้นั้นท่านว่าไม่จำต้องจดทะเบียน
ข้อจำกัดเช่นนี้
ท่านว่าจะถอนหรือแก้ให้หย่อนลงโดยนิติกรรมไม่ได้ นอกจากจะได้ทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่
ข้อจำกัดซึ่งกำหนดไว้เพื่อสาธารณประโยชน์นั้น
ท่านว่าจะถอนหรือแก้ให้หย่อนลงมิได้เลย
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 4176/2535
เดิมที่ดินของโจทก์ เป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3)
ซึ่งมีจำเลยเป็นเจ้าของ อยู่ติดถนนสาธารณะ
ต่อมาโจทก์ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 3 งาน
ซึ่งอยู่ด้านหลังก่อนแบ่งแยกหรือแบ่งโอนจำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์ว่าจะเปิดทางเดินกว้าง
2.5 เมตร
ให้โจทก์ทั้งสองเดินออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ต่อมาจำเลยได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ปิดกั้นด้านหน้าทำให้โจทก์ไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้
หากจะออกสู่ทางสาธารณะด้านหลังจะต้องอาศัยทางในที่ดินของผู้อื่น
และโจทก์ไม่มีสิทธิใช้ทางดังกล่าวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ที่ดินของโจทก์อยู่ในที่ล้อมจึงมีสิทธิผ่านที่ดินของจำเลยที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนไปสู่ทางสาธารณะได้
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 การยกเลิกสัญญาที่จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ทางผ่านดังกล่าวเป็นข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์
ต้องทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1338
วรรคสอง เพียงแต่ตกลงยกเลิกข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ด้วยปากเปล่าจึงไม่มีผลผูกพัน
และเมื่อเป็นทางจำเป็นโดยผลของกฎหมายจึงไม่จำต้องไปจดทะเบียน
โจทก์มีสิทธิเดินผ่านที่ดินของจำเลยได้เมื่อจำเลยปิดทางเดินทำให้โจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโจทก์ย่อมฟ้องบังคับให้เปิดทางได้โดยไม่มีอายุความ
ฎีกาที่ 4155/2532
เจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยแล้วปลูกตึกแถวจำนวน
2 แถว
โดยขอให้จำเลยเดินสายไฟฟ้าผ่านที่ดินแปลงที่อยู่ด้านหน้าไปยังที่ดินแปลงที่อยู่ด้านหลัง
เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในตึกแถวด้านหลังมีไฟฟ้าใช้การที่เจ้าของเดิมขายที่ดินที่แบ่งแยกพร้อมตึกแถวด้านหลังซึ่งมีไฟฟ้าใช้แล้วให้แก่ผู้อื่นไปโดยราคาที่ตกลงซื้อขายนี้เป็นที่เห็นได้ว่ารวมค่าไฟฟ้าเข้าด้วยแล้วเช่นนี้
ถือได้ว่าผู้รับโอนที่ดินพร้อมตึกแถวด้านหลังซึ่งเป็นที่ดินติดต่อได้ใช้ค่าทดแทนในการวางสายไฟฟ้าผ่านที่ดินซึ่งอยู่ด้านหน้าแก่เจ้าของเดิมแล้ว
จึงเป็นข้อจำกัดสิทธิอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1352 เจ้าของที่ดินเดิมไม่อาจบังคับให้เจ้าของที่ดินติดต่อย้ายสายไฟฟ้าให้พ้นไปจากที่ดินของตนได้และข้อจำกัดสิทธิดังกล่าวไม่จำต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1338 ก็มีผลบังคับกันได้ดังนั้น โจทก์ซึ่งรับโอนที่ดินด้านหน้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนสายไฟฟ้าออกไปให้พ้นบ้านโจทก์ได้
เพราะการฟ้องจำเลยก็มีผลเช่นเดียวกับการฟ้องเจ้าของที่ดินติดต่อนั่นเอง
อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้โดยตรง
ก็ชอบที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยได้
0 ความคิดเห็น