ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา 193 คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ เว้นแต่จะถูกห้ามอุทธรณ์โดยประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

               อุทธรณ์ทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 6096/2554 แม้อุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จำเลยประสงค์ยกขึ้นอ้างอิงคัดค้าน หรือกล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อใด การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าคำเบิกความของผู้เสียหายไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยได้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง แล้ว

               ฎีกาที่ 4200/2559 ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสองประกอบ มาตรา 216 วรรคหนึ่งและมาตรา 225 วางหลักว่า ฎีกาทุกฉบับต้องมีข้อคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ

               ฎีกาที่ 8286/2559 แม้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยด้วย แต่เมื่อจำเลยที่ 2 แถลงว่าประสงค์จะต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เข้ามาใหม่ โดยให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีเด็ดขาด เมื่อโจทก์ฟ้องหรือไม่ฟ้องภายในเวลาที่ศาลกำหนด จึงไม่มีคดีของจำเลยที่ 2 ในระหว่างพิจารณาที่จำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์คำสั่งขอให้รวมการพิจารณาคดี คำสั่งขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาดังกล่าว

               ฎีกาที่ 479/2555     การออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น เป็นอำนาจพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนได้ ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 66 และมาตรา 59/1 โดยเฉพาะ จึงไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193

               ฎีกาที่ 7173/2553 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือกำหนดโทษไม่ถูกต้อง จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 แต่จำเลยมิได้ใช้สิทธิจนคดีถึงที่สุดไปแล้ว จึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยใหม่ ดังนี้ หากศาลกำหนดโทษจำเลยใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ซึ่งห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด

               ฎีกาที่ 8658/2548 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง