ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 144 ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล
เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 3096/2552
จำเลยทั้งสองไปติดต่อกับดาบตำรวจ ช. เพื่อขอให้ช่วยเหลือ พ. กับพวก
โดยเปลี่ยนข้อหาจากเดิมข้อหาร่วมกันมีแมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยเสนอให้เงิน 70,000 บาท
ย่อมเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ขอให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้ดาบตำรวจ ช.
ไปดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชากระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เมื่อพันตำรวจตรี ต.
ผู้บังคับบัญชาของดาบตำรวจ ช. ทราบความประสงค์ของจำเลยทั้งสองจากดาบตำรวจ ช.
และวางแผนจับกุมโดยตอบตกลงและนัดหมายให้นำเงินมอบให้ และจับกุมได้พร้อมเงินของกลาง
จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ขอให้ทรัพย์สินแก่ดาบตำรวจ ช. และพันตำรวจตรี ต.
เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144
ฎีกาที่ 8181/2547
คำว่า “พนักงานสอบสวน” ตาม ป.อ. มาตรา 167 มีความหมายว่า
ต้องเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนั้นเท่านั้น ดังนั้น
การให้เงินแก่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนั้นเพื่อให้ช่วยเหลือไม่ดำเนินคดี
จึงมิใช่เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่พนักงานสอบสวนตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว
จึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้ คงมีความผิดตามมาตรา 144 เท่านั้น
ฎีกาที่ 1262/2547
การที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมผู้กระทำความผิดมีหน้าต้องเบิกความต่อศาลตามความสัจจริงในระหว่างเป็นพยานในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกฟ้องนั้น
เป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป
หาใช่เป็นหน้าที่โดยตรงอันสืบเนื่องมาจากที่เป็นเจ้าพนักงานผู้จับกุมผู้กระทำความผิดไม่
หน้าที่ที่ต้องเบิกความตามความสัจจริงจึงไม่เป็นการกระทำการในหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ
แม้จำเลยทั้งสามจะให้และรับว่าจะให้เงินแก่เจ้าพนักตำรวจเพื่อจูงใจให้เบิกความผิดไปจากความจริง
ก็ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144
ฎีกาที่ 300/2529
ข้อความในจดหมายที่จำเลยเขียนถึง บ. พนักงานสอบสวนมีลักษณะขอร้องให้
บ. ช่วยเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปในชั้นสถานีตำรวจโดยไม่ต้องให้คดีถึงศาลเท่านั้นเพื่อทั้งฝ่ายผู้ต้องหาและฝ่ายเจ้าพนักงานตำรวจจะได้ไม่เสียเวลาและเป็นการประหยัดเพราะจำเลยมีความเห็นว่าไม่ว่าจะชั้นศาลหรือชั้นสถานีตำรวจก็ถูกลงโทษปรับเหมือนกัน
จึงไม่พอแปลความหมายได้ว่าจำเลยขอให้หรือรับว่าจะให้เงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่
บ. เพื่อจูงใจไม่ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาดังกล่าว
อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144,167
0 ความคิดเห็น