ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 358 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์
ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี
หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 3578/2564
องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้น
ต้องกระทำต่อทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ซึ่งคำว่า
“ทรัพย์ของผู้อื่น” นั้น
ย่อมหมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์นั้น
ฎีกาที่ 11810/2553
จำเลยที่ 1 กับพวกเข้าไปในบริเวณโรงงานซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายแล้วทุบอิฐบล็อกและคอนกรีตที่ก่อสร้าง
กับรื้อเหล็กโครงสร้างของอาคารห้องพักคนงานของผู้เสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ แล้วเอาเหล็กโครงสร้างอาคารดังกล่าวไปอันเป็นความผิดฐานบุกรุก
ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ แต่เป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยจำเลยมีเจตนาเดียวคือเพื่อเอาเหล็กโครงสร้างอาคารไปโดยทุจริตเท่านั้น
จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90
ฎีกาที่ 112/2554
การที่จำเลยโยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายลงไปที่ชานพักบันได จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายอาจจะเกิดความเสียหายได้
เมื่อไม่ปรากฏว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์
ฎีกาที่ 7037/2547
คำว่า “ฉีด” ตามพจนานุกรม
ให้ความหมายไว้ว่า “ใช้กำลังอัดหรือดันของเหลวพุ่งออกจากช่องเล็ก
ๆ” ดังนั้น กระบอกฉีดยาที่ไม่มีเข็มฉีดยาก็สามารถฉีดของเหลวเข้าสู่ร่างกายกระบือโดยทางปากหรือทางทวารได้
และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีกระบอกฉีดยาบรรจุสารพิษไว้แล้ว และจำเลยกำลังจับเชือกที่ผูกกระบือของผู้เสียหายซึ่งพร้อมที่จะลงมือฉีดสารพิษใส่เข้าไปในตัวกระบือ
การกระทำของจำเลยดังนี้ใกล้ชิดต่อผลแห่งการกระทำให้เสียทรัพย์ถือว่าเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะผู้เสียหายมาพบและเข้าขัดขวางเสียก่อน
จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์ และเมื่อศาลฎีกาฟังว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาดังกล่าวถือว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดพ้นขั้นตระเตรียมการแล้ว
จึงถือไม่ได้ว่าแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง
0 ความคิดเห็น