ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา 69 ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 และมาตรา 68 นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้

 

หมายเหตุ

               หมายเหตุท้ายฎีกาที่ 620/2532 การป้องกันเกินขอบเขตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 มี 2 กรณีคือ "เกินสมควรแก่เหตุ" กรณีหนึ่งและ "เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน" อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งมีความหมายไม่เหมือนกัน "เกินสมควรแก่เหตุ" หมายถึงกรณีที่มีกฎหมายให้อำนาจผู้กระทำไว้ แต่ผู้กระทำได้กระทำเกินอำนาจนั้น คือ เกินสัดส่วน เช่นฎีกาที่ 659/2496 ผู้ตายตีจำเลยด้วยไม้คันฉาย จำเลยยิงผู้ตาย 2 นัด ขาดใจตายทันที เป็นป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ และฎีกาที่ 873/2521 ส.ใช้ไม้เหลี่ยมยาว 1 ศอกตีจำเลย จำเลยใช้ปืนยิง 2 นัด ส. ตาย เป็นป้องกันเกินกว่าเหตุ ที่ว่า "เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน" น่าจะมีความหมายว่า ถ้าได้กระทำโดยเจตนาพิเศษ เพื่อป้องกันสิทธิแล้ว แม้กระทำต่อภัยที่ยังไม่ใกล้จะถึง หรือกระทำต่อภัยที่ผ่านพ้นไปแล้ว ก็ยังเป็นการกระทำเพื่อป้องกันได้ แต่ถือว่าเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน (จิตติ ติงศภัทิย์)

               ฎีกาที่ 10879/2556 แม้ผู้เสียหายเข้าไปภายในบริเวณบ้านจำเลย และ ส. เพื่อปรับความเข้าใจเรื่องที่ผู้เสียหายมีปากเสียงกับจำเลย แต่เมื่อ ส. ไล่ให้ผู้เสียหายกลับไป และจำเลยปิดประตูบ้าน จึงเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมของจำเลย และ ส. ในฐานะเจ้าของบ้านที่จะไล่ให้ผู้เสียหายออกไปจากบริเวณบ้านของตนได้ เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมออกไปจากบริเวณบ้าน ถือเป็นการบุกรุกบ้านของจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธมีดโต้ฟันผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย แต่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้อาวุธใดจะทำร้ายจำเลย การที่จำเลยใช้มีดโต้ฟันผู้เสียหายหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69

               ฎีกาที่ 7650/2553 จำเลยขึงเส้นลวดและปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้บริเวณหน้าต่างห้องพักของจำเลยเพื่อป้องกันขโมยเข้ามาลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลย จึงเป็นเหตุให้เด็กชาย ก. บุตรเลี้ยงของจำเลยซึ่งลักลอบปีนหน้าต่างเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลยถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย แม้การกระทำของผู้ตายจะถือเป็นการประทุษร้ายอันเป็นละเมิดต่อกฎหมายและต่อทรัพย์สินของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงถึง 220 โวลต์ ไปตามเส้นลวดที่ไม่มีฉนวนหุ้มนั้นย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพที่สามารถทำให้ผู้อื่นที่ไปสัมผัสถูกถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น แม้จะเป็นการป้องกันคนร้ายที่จะเข้ามาลักทรัพย์สินในห้องพักของจำเลยและทำร้ายจำเลยกับภรรยาได้ แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตาม ป.อ. มาตรา 69

               ฎีกาที่ 5544/2553 ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายจำเลยก่อน ถือได้ว่าการกระทำของผู้ตายเป็นภยันตรายต่อจำเลยซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยพยายามหลีกเลี่ยงการต่อสู้โดยวิ่งหลบหนี แต่ผู้ตายซึ่งถือขวดกับพวกยังคงวิ่งไล่ตามจำเลยและผู้ตายจะขว้างขวดใส่จำเลย อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน หากผู้ตายขว้างขวดใส่จำเลยอาจทำให้จำเลยได้รับอันตรายได้ หรือหากวิ่งทันจำเลยก็อาจทำร้ายจำเลยได้ ภยันตรายที่เกิดจากผู้ตายจึงยังไม่หมดไป จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้แต่จำเลยมีอาวุธปืนที่ร้ายแรงกว่า จำเลยจึงอาจยิงขู่หรือเลือกยิงร่างกายส่วนที่สำคัญน้อยหรือเป็นอันตรายน้อยเพื่อยังยั้งผู้ตายกับพวกมิให้เข้าทำร้ายจำเลย แต่จำเลยกลับยิงผู้ตายบริเวณหน้าอกอันเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตาม ป.อ. มาตรา 69

               ฎีกาที่ 8046/2542 จำเลยกับผู้ตายลักลอบได้เสียกัน ต่อมา บ. สามีจำเลยทราบเรื่องและจะให้โอกาสจำเลยกลับตัว แต่ต้องทำตามที่สั่ง ถ้าไม่เช่นนั้นจะฆ่าเสียทั้งสองคน จำเลยและ บ. อยู่ด้วยกันเพียงสองคนในบ้านพัก จำเลยเป็นหญิงซึ่งเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าจึงอาจถูก บ. ข่มเหงเอาได้ตลอดเวลา จำเลยเป็นชู้กับผู้ตายซึ่งถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่ บ. สามีอาจฆ่าจำเลยเสียได้จริง ด้วยความกลัวจำเลยจึงยอมทำตาม บ. บอกแผนให้จำเลยนัดผู้ตายไปยังที่เกิดเหตุและกำชับว่าให้พาผู้ตายไปยังที่เกิดเหตุให้ได้ ไม่งั้นเตรียมตัวตาย จำเลยจึงไปหลอกชวนผู้ตายให้ไปร่วมหลับนอนกันอีกในวันรุ่งขึ้น วันเกิดเหตุเมื่อจำเลยพาผู้ตายมาถึงที่เกิดเหตุ ผู้ตายถูก บ. ฆ่าตาย จำเลยร่วมฆ่าผู้ตายเพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจของ บ. ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ แต่การที่จำเลยยอมร่วมมือกับ บ. ฆ่าผู้ตาย ถือได้ว่าได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 (1), 69