ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 96 ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
เป็นอันขาดอายุความ
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 12675/2558
ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้
โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน
นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น
คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง
ดังนี้
จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว
การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง
เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น
ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป
ฎีกาที่ 693/2556
ช. ผู้จัดการโจทก์ สาขาสำโรง เป็นเพียงลูกจ้างของโจทก์ แม้ ช.
รู้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดก็จะถือว่าผู้แทนโจทก์รู้ด้วยไม่ได้ ผ.
เป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์
เมื่อกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงทำรายงานเสนอ ผ. ว่าจำเลยทั้งสองได้หลอกลวง ช.
อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และ ผ. ลงลายมือชื่อรับทราบในรายงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 28
พฤศจิกายน 2537 จึงต้องถือว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่
28 พฤศจิกายน 2537
ฎีกาที่ 14785/2555
ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดวันที่ 25
มีนาคม 2542 แต่โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง
การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2549 โจทก์จะต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่า
โจทก์ฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเช่นนั้น คดีในความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความตาม ป.อ.
มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
ฎีกาที่ 9568/2555
จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาลร่วมกับ ห.
โดยเจตนาทุจริตเบียดบังทรัพย์มรดกที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3)
จดทะเบียนโอนเป็นชื่อของตนในฐานะผู้จัดการมรดก
แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกทั้งสามแปลงแก่ ห. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิด
อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537
มิใช่อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2549
ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทั้งคู่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม
ป.อ. มาตรา 96 อายุความตามมาตรา 96 เป็นอายุความร้องทุกข์ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา
95 ด้วย การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26
พฤษภาคม 2549 เกินกำหนดระยะเวลาสิบปีนับตั้งแต่วันที่
22 กุมภาพันธ์ 2537 ที่จำเลยกระทำความผิด
ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) สิทธินำคดีอาญาย่อมระงับไปตาม
ป.วิ.อ.มาตรา 39 (6)
ฎีกาที่ 3129/2555
แม้ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) เป็นความผิดอันยอมความได้
ซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเสียภายในกำหนดสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า
จำเลยทั้งสี่กระทำการตามฟ้องอันเป็นการฝ่าฝืน ป.อ. มาตรา 272 (1) เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2553 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งหมายถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้อันเป็นการบรรยายฟ้องว่าการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ยังคงกระทำสืบเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่
30 กันยายน 2553 อันเป็นวันที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดในคดีนี้
ดังนั้นคดีอาญาในความผิดข้อหาดังกล่าวย่อมไม่ขาดอายุความ
0 ความคิดเห็น