ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1555
ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด
ดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา
ฉุดคร่า
หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน
(4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
(5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
(6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
(7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร
พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น
ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่
เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตนหรือโดยเหตุประการอื่น
ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น
ถ้าปรากฏว่าชายไม่อาจเป็นบิดาของเด็กนั้นได้ ให้ยกฟ้องเสีย
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 5660/2559(ประชุมใหญ่) การที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1547 และมาตรา 1555 นั้น
เป็นสิทธิของฝ่ายเด็กที่จะฟ้องให้ศาลมีคำพิพากษาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้กล่าวคือ
ในกรณีที่เด็กยังมีอายุไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์
ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ฟ้องคดีแทน หรือในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม
หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ให้ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็ก
มิใช่กรณีที่ให้สิทธิแก่บุคคลที่อ้างว่าเป็นบิดาของเด็กมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร
ทั้งผู้ร้องมิได้ร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ร้องจดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตรเพื่อนำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1548 แต่กลับขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้ร้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ
พ.
ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะคำพิพากษาของศาลในกรณีเช่นนี้ไม่มีผลทำให้ผู้ร้องมีสถานะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ
พ. กรณีของผู้ร้องจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 1547 จึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ
พ. ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
ฎีกาที่ 1646/2549
ผู้ร้องเป็นบุตรสืบสายโลหิตของ ป. ป. แสดงออกต่อญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่บ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนาของมารดาผู้ร้อง
มิได้แสดงออกต่อญาติข้างบิดาหรือเพื่อนบ้านแถวบ้านพักของ ป.
ซึ่งอยู่ต่างท้องที่กันว่าผู้ร้องเป็นบุตร
ก็ถือได้ว่าพฤติกรรมที่รู้กันอยู่ทั่วไปตลอดเวลาว่าผู้ร้องเป็นบุตร ป. ตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1555 (7) แล้ว
ฎีกาที่ 8504/2544
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555
หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทคือฟ้องบิดาโดยเสนอข้อหาทำเป็นคำฟ้องตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือให้เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตามมาตรา
188 (1)
ฎีกาที่ 2698/2536
ผู้ตายได้ทำบันทึกมีข้อความระบุว่า ผู้ร้องยินยอมรับเงินจำนวน15,000
บาท เป็นค่าทดแทนกรณีที่ผู้ร้องมีบุตรกับผู้ตาย
โดยผู้ร้องลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้สัญญา ส่วนผู้ตายลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับสัญญา
บันทึกดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเอกสารของผู้ตายที่ยอมรับว่าเด็กหญิง ม.
เป็นบุตรของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555(3) แล้ว
0 ความคิดเห็น